COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ ลั่น ถึงเวลาหลุดพ้น ‘กับดักตัวเลขติดเชื้อรายวัน’ แนะทยอยเปิดแซนด์บ็อกซ์

“หมอนิธิพัฒน์” แนะเลิกสนใจตัวเลขติดเชื้อรายวัน โฟกัสเฉพาะผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ.จากโควิด เพื่อก้าวสู่โรคประจำถิ่น

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ชี้ถึงเวลาเลิกรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน โดยระบุว่า

ตัวเลขติดเชื้อรายวัน

เมื่อวานสัมภาษณ์สื่อสำนักหนึ่ง ถึงสถานการณ์โควิดในช่วงนี้ ด้วยชุดคำถามที่ว่า เหตุใดภาครัฐจึงว่ายอดผู้ติดเชื้อยังไม่ถึงจุดสูงสุด ทั้งที่ยอดรายใหม่ลดลงมาหลายวันแล้ว ทำไมยอดผู้เสียชีวิตจึงยังไม่ลดลงเสียที แล้วอย่างนี้ประเทศจะเข้าสู่ช่วงโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในครึ่งหลังของปีได้จริงหรือ

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราไม่จำเป็นนักที่ต้องรู้ว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เท่าไรกันแน่ และแท้จริงแล้วเราก็ไม่มีปัญญาจะไปตรวจให้รู้แจ้งได้ด้วย

สิ่งที่ควรให้ความสนใจคือ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุโดยตรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งลักษณะจำเพาะของเขา คือ ต้องเกิดปอดอักเสบ

ผมประมาณการจากข้อมูลหลายแหล่ง ว่ากลุ่มนี้ในปัจจุบันมีไม่ถึง 20% ของยอดผู้ป่วยปอดอักเสบ หรืออาการรุนแรงจากโควิด ที่เราได้รับทราบจากรายงานทางการในแต่ละวัน

ส่วนที่เหลือเป็นผลจากการติดเชื้อโควิด แล้วทำให้โรคพื้นฐานทางกายกำเริบขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น โดยส่วนใหญ่ไม่เกิดปอดอักเสบโควิด ซึ่งถ้าไม่ติดโควิดโรคเดิมก็อาจจะกำเริบจากเหตุอื่น เช่น ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อโรคอื่น หรือ ได้รับมลพิษในอากาศมากเกินไปช่วง PM2.5 ขึ้นสูง เป็นต้น

การเสียชีวิตก็เช่นกัน ถ้าเป็นดังที่กล่าวมาแล้ว มีเพียงราว 20% เท่านั้นที่เป็นสาเหตุโดยตรงจากโควิด นอกจากนั้น การเสียชีวิตมีโควิดเป็นสาเหตุส่งเสริมหรือเหตุตายทางอ้อม

แต่ตัวเลขรวมนี้มีประโยชน์ที่เราจะนำไปใช้พิจารณาว่า การเสียชีวิตในภาพรวมจากโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและระบบอื่นของประเทศหรือไม่ โดยทำการเปรียบเทียบอัตราตายจากทุกสาเหตุ (all-cause mortality rate) ในช่วงเวลาเดียวกันก่อนที่จะเกิดโรคระบาดนี้

LINE ALBUM Covid atk สถานที่ต่างๆ ๒๒๐๔๒๐

สมมติเช่น ในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 เมษายน 2565 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุคิดเป็น A ต่อแสนคน ส่วนในช่วงเดียวกันของปี 2562 คิดเป็น B ต่อแสนคน

ถ้าโรคโควิด-19 ยังเป็นปัญหาสำคัญ ค่า A จะต้องมากกว่า B แล้วแต่เกณฑ์ที่เราจะกำหนด เช่น ผมอาจเลือกที่ 10% ตัวเลขส่วนต่างนี้มีความสำคัญ เพราะมีทั้งคนที่เสียชีวิตโดยตรงจากโควิด รวมถึงคนที่อาจอดตายเพราะมาตรการควบคุมโควิด หรือคนที่ไม่ได้รับการตรวจรักษาโรคอื่นตามกำหนดเพราะมาตรการควบคุมโควิด และเหตุจากการเสียโอกาสอื่นๆ อีกมากมาย

ได้เวลาแล้วที่เราควรจะก้าวออกจากกับดักตัวเลขรายวันอันคุ้นชิน สู่การเผชิญหน้ากับโรคอุบัติใหม่ที่ความรุนแรงได้บรรเทาลงไปมากแล้ว ด้วยแนวคิดใหม่ที่หลายประเทศเริ่มกรุยทางนำหน้าไปบ้าง

หลังจากที่เราปรับการดูแลรักษาโรคโควิด-19 เข้าสู่ระบบสุขภาพตามปกติมาระยะหนึ่ง และเตรียมความพร้อมการดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเตียงในโรงพยาบาล ยา และอุปกรณ์อื่นที่เพียงพอ

ความจำเป็นของการทดลองปรับมาตรการต่อไปเป็นรายจังหวัดหรือแซนด์บ็อกซ์ โดยใช้เป้าหมายตัวเลขการควบคุมโรคแบบเดิม อาจทำให้ระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศช้าลงกว่าการปรับเปลี่ยนทีเดียวไปพร้อมกัน เมื่อมั่นใจระดับหนึ่งว่าโรคโควิด-19 ไม่ได้ทำให้คนไทยเราเสียชีวิตจากทุกสาเหตุแบบมากเกินเหตุ

การพักผ่อนกับหนังสือคู่ใจในมุมถูกใจช่วงวันหยุดยาวหมดไปแล้ว ได้เวลาเปิดมุมมองใหม่ๆ แต่ไม่รวมทีมรักที่อาจถูกคู่ปรับตลอดกาลถล่มซ้ำในคืนนี้

#ก้าวข้ามมุมมองตัวเลขโควิดแบบเดิม

#อยู่ร่วมกับโควิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo