COVID-19

คำเตือนจาก ‘WHO’ ระวังสายพันธุ์ใหม่-ไวรัสลูกผสม หลังโอไมครอนสงบ

ศูนย์จีโนมฯ เผยคำเตือนองค์การอนามัยโลก ขอความร่วมมือทุกประเทศ อย่าลดตรวจโควิด เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง หวั่นเกิดสายพันธุ์ใหม่-ไวรัสลูกผสม

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เผยแพร่คำเตือนจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยระบุว่า

WHO

องค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อ 10 มีนาคม 2565 ได้ออกมาย้ำเตือนและขอความร่วมมือจากทุกประเทศทั่วโลก

1. ขออย่าลดจำนวนการตรวจ (ATK, RTPCR, และการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนม) ในช่วงนี้ เพราะจะทำให้เราตามจับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ไม่ทัน ส่งผลให้การวางแผนในการตรวจติดตาม ป้องกัน และรักษาไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ของ WHO ล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์

2. ดูแลผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง (608) ให้ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งแม้จะมีวัคซีนพอเพียง แต่ปรากฏว่าบางกลุ่มประชากรโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง (608) กลับไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ครบถ้วน

WHO ได้ตั้งเป้าการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในทุกประเทศให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของทุกกลุ่มประชากร

เตือนระวังสายพันธุ์ใหม่-ไวรัสลูกผสม หลังโอไมครอนสงบ

3. WHO ประเมินว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่และสายพันธุ์ลูกผสม(recombinant variants) เกิดขึ้นหลังจากโอไมครอนสงบลง แต่ด้วยภูมิคุ้มกันที่เรามีสะสมกันมาทั้งจากวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจะช่วยลดผลกระทบได้

4. การกำจัดไวรัสให้หมดไปไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ที่สำเร็จมาแล้วมีเพียงตัวเดียวคือ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษ (Smallpox) หรือไข้ทรพิษ อันเกิดจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) ที่ติดต่อผ่านการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย

และการกำจัดไวรัสอีกตัวที่ใกล้จะสำเร็จคือโปลิโอ (Polio หรือ Poliomyelitis หรือ Infantile paralysis) หรือบางครั้งเรียกว่า โรคไขสันหลังอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ

5. คำว่าโรคประจำถิ่น (Endemic) ทาง WHO แถลงว่าไม่ได้หมายความว่าตัวเชื้อก่อโรคจะต้องยุติการระบาดหรือสูญหายไป เช่นกรณีของ เชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ เชื้อไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซีส ที่ก่อให้เกิดวัณโรคปอด และเชื้อมาลาเรียที่ก่อให้เกิดโรคไข้จับสั่น

WHO1

ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่น แต่เชื้อทั้งสามก็ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกปีละหลายล้านคน โดยแต่ละประเทศต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมิให้เชื้อเหล่านี้ กลับมาระบาดใหญ่ (Pandemic) ได้อีก

หมายเหตุ กรณีของเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ เดิมมีการรบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ตั้งแต้ปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ในที่สุด

ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณถึง 3,000 ล้านบาทต่อปี ในการตรวจวินิจฉัย CD4, viral load, และการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อดูว่าไวรัสดื้อต่อยาต้านไวรัสแล้วหรือไม่ และสามารถปรับเปลี่ยนยาหากเชื้อดื้อยาได้ทันท่วงที รวมทั้งมีการจัดหายาต้านไวรัสมาใช้

มนุษย์เราได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เช่น ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มเสี่ยง หรือตรวจกรองเลือดให้ปราศจากเชื้อจุลชีพต่าง ๆ รวมทั้งเอชไอวีก่อนให้กับผู้ป่วยที่ต้องการเลือด เป็นต้น

ดังนั้นในกรณีของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทางภาครัฐจะปรับให้เป็นโรคประจำถิ่นเร็ว ๆ นี้ คาดว่าประชาชนคนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างเพื่ออยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้ให้ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo