COVID-19

เริ่มพรุ่งนี้! ‘รักษาโควิด’ แบบผู้ป่วยนอก เลิกให้ยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ คนไม่มีอาการ-ไม่เสี่ยง

เริ่มพรุ่งนี้ 1 มีนาคม “สาธารณสุข” เริ่มรักษาคนติดเชื้อโควิด แบบ “ผู้ป่วยนอก” เลิกให้ยาฟาวิพิราเวียร์ กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย และไม่มีความเสี่ยง ย้ำ ต้องอยู่แต่ที่บ้าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน ออกไปไหนไม่ได้ 

วันนี้ (28 ก.พ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเพิ่มบริการการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด -19 ในระบบผู้ป่วยนอก (OPD) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดแบบผู้ป่วยนอก เป็นไปตามความสมัครใจ เป็นมาตรการเสริมจากการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) และแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) และรักษาที่โรงพยาบาล

shutterstock 1677438415

ระบบผู้ป่วยนอกต่างจาก HI คือ ผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชั่วโมง ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ไม่มีอาหารให้ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา

เลิกจ่ายยา ฟาวิพิราเวียร์ กลุ่มติดเชื้อไม่มีอาการ

ทางด้าน นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการพิจารณาจัดทำแนวทางการรักษาโรคโควิดฉบับล่าสุด คือฉบับที่ 20 ซึ่งจะมีแนวทางสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก ดังนี้

1.ผู้ป่วยไม่มีอาการพบกว่า 90% ให้รักษาที่บ้าน หรือแบบผู้ป่วยนอก จะไม่มีการให้ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ และไม่ต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาสีฟ้า เสี่ยงดื้อยา และไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อน ๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรให้ตามดุลพินิจแพทย์ แต่ไม่ให้ในเด็ก คนท้อง ต้องไม่ป่วยโรคตับ ไม่ใช้ร่วมยาต้านไวรัสอื่น ให้นอนอยู่บ้าน

2. กรณีมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์เป็นคนพิจารณาว่า จะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากให้ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจร แต่หากตรวจพบเชื้อมีอาการเกิน 5 วันแล้ว การให้ยาต้านอาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว

3. กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีไข้ 38-39 อายุ 65 ปีขึ้น มีโรคร่วม แพทย์พิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว

ส่วนกลุ่มที่ 4 ซึ่งอาการรุนแรงนั้น อยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม

“ห้ามเด็ดขาดที่จะบอกว่าการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เป็นการรักษาไป-กลับ ซึ่งไม่ใช่ เพราะคำว่าไป-กลับ หมายความว่าสามารถออกไปข้างนอกได้ แต่การรักษาแบบผู้ป่วยนอกนี้ ให้อยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย ระหว่าง 7 วันนี้ ต้องติดต่อกับทางการแพทย์ เพื่อให้รู้ว่าอยู่จุดไหน ซึ่งส่วนใหญ่ โรคจะค่อย ๆ หายเอง”

ดังนั้น การรักษาด้วยยาให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งการปรับการให้ยาไม่ใช่ว่าไม่มีเงิ นแต่เป็นการปรับเพื่อให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo