COVID-19

อันตราย!! อย่าปล่อย โอไมครอน BA.2 ระบาดเป็นวงกว้าง หวั่นสร้างสายพันธุ์ใหม่

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เตือนอย่าปล่อยให้ โอไมครอน BA.2 แพร่ระบาดวงกว้าง หลังผลวิจัยสัตว์ทดลองพบ ก่ออาการรุนแรงกว่า BA.1 หวั่นเปิดทางไวรัสสร้างสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าเดิม

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เตือนสถานการณ์อันตราย หากปล่อยให้ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดเป็นวงกว้าง ระหว่างคนสู่คน

โอไมครอน BA.2

มีนักวิจัยหลายคน อาทิ Dr. Eric Feigl-Ding นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียกร้องผ่านสื่อให้องค์การอนามัยโลกปรับ โอมิครอนสายพันธุ์ “BA.2” ให้อยู่ในกลุ่มของ “ไวรัสที่น่ากังวล” หรือ Variants of Concern ตามเกณฑ์ของ WHO

ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อมูลจากในสัตว์ทดลอง และในหลอดทดลอง แสดงให้เห็นว่า BA.2 มีการแพร่ติดต่อและก่อให้เกิดอาการโรคโควิด-19 (ในสัตว์ทดลองและในหลอดทดลอง) ที่รุนแรงกว่า BA.1

Dr. Maria DeJoseph Van Kerkhove ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยโรคอุบัติใหม่และโรคจากสัตว์สู่คน และเป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านกิจการโควิด-19 ได้แถลงว่า BA.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน

ขณะที่ WHO ได้จัดอยู่ในกลุ่มของ ไวรัสที่น่ากังวล (Variants of Concern:VOC) ตามเกณฑ์ของ WHO ไปเรียบร้อยแล้ว

Dr. Maria DeJoseph Van Kerkhove กล่าวว่า สายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน BA.2 แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.1 โดยทั้งสองสายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า เดลตา

โอไมครอน 1

แต่จากข้อมูลของผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ WHO ได้รับมายังไม่พบความรุนแรงของโรคโควิด-19 จาก BA.1 และ BA.2 ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

โอไมครอน BA.2 ระบาดเร็ว หวั่นกลายพันธุ์ใหม่

อย่างไรก็ตามจากการที่ BA.2 มีการแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.1 ดังนั้นเราจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยต้องเข้า รพ. และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่ WHO อยากขอร้องให้ทั่วโลกร่วมด้วยช่วยกันคือ ลดอัตราการแพร่ระบาดลง เพราะมิเช่นนั้นนอกจากเราจะได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยต้องเข้า รพ. และเสียชีวิตมากขึ้นแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อและหายป่วยจำนวนมากอาจประสบกับปัญหา ลองโควิด (Long COVID-19) อันเป็นผลกระทบระยะยาวจากการติดเชื้อโควิด-19

รวมทั้งการแพร่ระบาดของ BA.2 ระหว่างคนสู่คนเป็นวงกว้าง จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 อุบัติขึ้นมาแทนที่โอไมครอน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมากของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดำเนินมาร่วม 3 ปี

ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ดร. เตโวโดรส อัดฮาโนม เกอเบรออีเยอซุส ชี้ว่า การเข้าถึงวัคซีนและการทดสอบ อาทิ ATK, PCR อย่างไม่เท่าเทียมกันในหลายประเทศ รวมกับการแพร่ระบาดในระดับสูง กำลังสร้างสภาวะเอื้ออำนวยให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นได้

ยิ่งความไม่เท่าเทียมกันนี้ดำเนินต่อไปนานเท่าไร การระบาดใหญ่ก็ยิ่งยาวนานขึ้นเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo