COVID-19

เคลียร์ชัด ๆ สิทธิรักษาโควิด ข้าราชการ บัตรทอง ประกันสังคม ต่างด้าว ครบที่นี่

เช็คสิทธิรักษาโควิด หลังปลดออกจากยูเซป หรือโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ทั้งข้าราชการ บัตรทอง บัตรประกันสังคม และแรงงานต่างด้าว

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข วางเป้าหมายนำโรคโควิด-19 ออกจากโครงการ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patient: UCEP) ทำให้เกิดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ที่ต้องจ่ายเองหากเข้าโรงพยาบาลเอกชน

สิทธิรักษาโควิด

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงโดยสรุปว่า ยูเซป คือ ฉุกเฉินวิกฤติที่สามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ใกล้บ้าน มีเจตนารมณ์ เพื่อดูแลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินวิกฤติจริง ๆ เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ช็อก หายใจเร็ว หอบเหนื่อยมาก เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อ่อนแรงแขนขา เส้นเลือดออกในสมอง

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเข้าอาการวิกฤติฉุกเฉิน รวมถึงโรคโควิด สามารถรักษาได้ใน 72 ชม. โดยเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติ จะเป็นไปตามเกณฑ์ของ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)

โดยสรุป คือ หากป่วยโควิดรักษาฟรี ตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากวันนี้ไปเข้ารพ.เอกชนที่หนึ่งและขอตรวจ โดยที่ไม่ได้มีอาการเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติ เมื่อตรวจแล้วผลบวก จะขอรักษา รพ.เอกชน อันนี้ต้องจ่ายค่ารักษาเอง

เช็คสิทธิรักษาโควิด 

กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกัน 3 กองทุน คือกองทุนบัตรทอง กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการถึงแนวทางการดูแล ประเด็นสำคัญ คือ เป็นการรักษาฟรีตามสิทธิที่มี ดังนี้

สิทธิรักษา

สวัสดิการข้าราชการ

  • สามารถเข้ารับการรักษาได้ในรพ.ของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศฟรี

บัตรทอง

  • สามารถเข้ารับการรักษาในรพ.รัฐ และสถานพยาบาลเครือข่ายทุกแห่งฟรี เช่น ผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรทองอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่มาทำงานที่ กทม. เมื่อติดโควิดก็สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเครือข่ายในกทม.

ประกันสังคม

  • สำนักงานประกันสังคม จะประชุมคณะกรรมการการแพทย์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหารือถึงการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากมีสถานพยาบาลเครือข่ายทั้งรัฐ และเอกชน

แรงงานต่างด้าว

  • ผู้ป่วยต่างด้าวจะมีรพ.ตามสิทธิผ่านการซื้อประกันสุขภาพอยู่แล้ว กรณีแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่รพ. หรือสถานพยาบาลของรัฐได้

สำหรับกรณีรักษาตัวใน HI สามารถโทรสายด่วน 1330 ได้ กรณีที่ไม่ได้ไปรักษาพยาบาลตามสิทธิ เช่น มีหลักประกันอยู่ในรพ.รัฐ แต่ประสงค์เข้ารับการรักษารพ.นอกสิทธิ อย่างเช่นรพ.เอกชน ในส่วนนี้ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายเงินเอง อาจจะมีการคุยกับรพ.เอกชนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอัตราค่ารักษา เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน

สธ.

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ส่วนปัญหาบริษัทประกันสุขภาพ ไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาที่บ้าน หรือระบบ HI นั้น สบส.จะทำหนังสือส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิดที่ดูแลตัวเองที่บ้าน ที่ชุมชน ว่าจัดอยู่ในระบบการดูแลผู้ป่วยใน ของรพ.ตามระบบที่กระทรวงสาธารณสุขวางเอาไว้ ยืนยันว่า HI /CI เป็นหนึ่งในสถานพยาบาล จะอ้างเป็นเหตุไม่จ่ายค่าสินไหมไม่ได้

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเติมกรณีจากเดิมกลไกยูเซปเดิมอาจมีบางอย่างไม่ครอบคลุม เช่น ชุด PPE ชุดป้องกันโรค เครื่องช่วยหายใจบางชนิดที่ใช้กับคนไข้โควิด ทางสบส.ได้รับมอบจาก ปลัดสธ.จะจัดประชุมในการเพิ่มไอเทมต่าง ๆ ที่ไม่ครอบคลุม เพราะเป็นโรคใหม่ เพื่อให้คนไข้ที่เป็นโควิดแล้วเกิดฉุกเฉินวิกฤต ทางรพ.จะได้นำไปใช้เบิกจ่ายได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo