COVID-19

เผยวิจัย ลิงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นออกแบบจากโอไมครอน ไม่ช่วยสร้างแอนติบอดีเพิ่ม

“ดร.อนันต์” เผยผลวิจัยสหรัฐ ทดลองฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ออกแบบจากโอไมครอนในลิง เทียบวัคซีนออกแบบจากสายพันธุ์ดั้งเดิม พบสร้างแอนดิบอดียับยั้งไวรัสไม่

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เรื่อง วัคซีนเข็มกระตุ้นที่ออกแบบจากโอไมครอน เป็นตัวเปลี่ยนเกมหรือไม่ โดยระบุว่า

LINE ALBUM รวมหมอโควิด ๒๒๐๒๐๕ 0

วัคซีนเข็มกระตุ้นที่ออกแบบจากโอไมครอนโดยตรง อาจช่วยอะไรไม่ได้มากครับ ถ้าดูจากผลวิจัยล่าสุดที่ทีมวิจัยจาก NIH ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยออกมา

การศึกษานี้ตั้งใจตอบคำถามง่าย ๆ คือ วัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด mRNA ที่ออกแบบจากไวรัสโอไมครอนโดยตรง จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้แตกต่างมากน้อยอย่างไร เทียบกับวัคซีนตัวเดิมที่ออกแบบมาจากสายพันธุ์ Wuhan ดั้งเดิม

วิธีวิจัย คือ ใช้ลิงที่ได้รับวัคซีน Moderna รูปแบบเดิม 2 เข็ม พอครบ 41 สัปดาห์หลังเข็ม 2 ก็แบ่งลิงออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกได้รับเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีนตัวเดิม ขณะที่กลุ่มที่สองได้รับวัคซีน Moderna ที่ออกแบบจากโอไมครอน

หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ทีมวิจัยได้นำซีรั่มของลิงแต่ละตัว มาตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะปริมาณแอนติบอดีที่ยับยั้งไวรัสแต่ละสายพันธุ์ได้ (Neutralizing antibody)

ผลการทดลองออกมาพบว่า กลุ่มลิงที่ได้รับฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจากวัคซีนโอไมครอน ไม่ได้มีระดับแอนติบอดียับยั้งไวรัสแตกต่างจากลิงที่ได้รับวัคซีนเข็มเดิมกระตุ้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอนติบอดีที่ยับยั้งไวรัสโอไมครอน ซึ่งคาดหวังว่าน่าจะสูงกว่าในลิงกลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนโอไมครอน

วิจัยลิง

เอาจริง ๆ ถ้าเปรียบเทียบเส้นทึบ กับ เส้นประของสีที่ถูกระบายไว้ (โอไมครอน) กลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนตัวเดิมจะดีกว่านิดหน่อยด้วย แต่ความแตกต่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการทดลองนี้ทำให้ทีมวิจัยเชื่อว่า อาจเป็นสาเหตุที่มาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Original Antigenic Sin (OAS) ที่เกิดจากร่างกายเรียนรู้การสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนรูปแบบเดิม จากการถูกฉีดซ้ำ ๆ จนทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่จากวัคซีนตัวใหม่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

พูดเป็นภาษาที่ฟังง่าย ๆ ก็คล้ายกับการเรียนภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก ฟังแต่ภาษาไทยจนคล่อง แล้วเพิ่งมาเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตอนเราโตแล้ว การที่จะพูดภาษาอังกฤษให้สำเนียงตรงเป๊ะเหมือนเจ้าของภาษา จะทำได้ยากมาก ๆ การมีสำเนียงไทยปน ๆ มาก็คล้ายกับภูมิคุ้มกันที่ไม่สามารถลืมภูมิจากวัคซีนตัวเดิมได้ครับ

ผลการศึกษานี้เหมือนจะบอกว่า เราอาจจะคาดหวังกับวัคซีนรูปแบบใหม่ได้ไม่มากเท่าที่ควร การกระตุ้นด้วยวัคซีนรูปแบบเดิมถ้าทำได้วันนี้เวลานี้ อาจไม่แตกต่างจากการรอวัคซีนรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ประเด็นที่สำคัญที่ต้องเน้นคือ ผลการทดลองนี้ยังไม่ใช่การทดสอบในมนุษย์ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่า OAS ในมนุษย์จะเหมือนในลิงที่ทดสอบในการศึกษานี้หรือไม่ เพราะหลายครั้งผลในลิง กับในมนุษย์ก็ต่างกันอยู่ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo