กรมวิทย์ฯ เผยพบผู้ติดเชื้อโอไมครอน เข้าข่าย 14 ราย ยืนยันแล้ว 9 ราย ชี้ปัจจุบันสายพันธุ์แพร่ระบาดหลัก ยังเป็นเดลตา แต่ยอมรับวันใดวันหนึ่งอาจมีการติดในประเทศ ลั่นพร้อมรับมือ
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในการเสวนาวิชาการออนไลน์ เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่า ปัจจุบันสายพันธุ์ที่พบในไทยยังเป็นเดลตาเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม การตรวจพบโอไมครอน ยังมาจากต่างประเทศ แต่วันใดวันหนึ่งก็อาจมีการติดในประเทศ ซึ่งเราก็มีการเตรียมรับมือ เพราะทุกประเทศเจอกันหมด สิ่งสำคัญคือ ต้องเจอเร็ว และสกัดได้เร็วก็จะไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาในประเทศไทยช่วงเปิดประเทศ ซึ่งการตรวจหาเชื้อโควิด ตามแล็บทั่วไปจะยังไม่สามารถบอกสายพันธุ์ได้ การตรวจสายพันธุ์จะตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัย
สำหรับการตรวจสายพันธุ์นั้นจะมีข้อกำหนดในการตรวจ เช่น ตรวจในคนไข้หนัก ผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือผู้ติดเชื้อที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เป็นต้น โดยจะตรวจ 3 ระดับ คือ ระดับแรก SNP ใช้เวลา 1-2 วัน ลำดับต่อมาคือ Target sequencing ใช้เวลา 3 วัน และการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว Whole genome sequencing ใช้เวลา 5-7 วัน
ขณะนี้ จากการตรวจเฝ้าระวังมีผู้ติดเชื้อเข้าข่ายสายพันธุ์โอไมครอน 14 ราย ยืนยันแล้ว 9 ราย ถือว่ายังเป็นระยะแรก ๆ ที่สายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ถ้าเจอแล้วจำกัดวงได้เร็วก็อาจมีปัญหาไม่มาก
ส่วนข้อกังวัลว่า RT-PCR ตรวจได้หรือไม่ ขอยืนยันว่า RT-PCR และ ATK ยังสามารถตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนได้ ส่วนที่ว่ามีสายพันธุ์โอไมครอน-ไลก์ BA.2 แล็บตรวจไม่เจอ ขอยืนยันว่าห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจหาโอไมครอน-ไลก์ได้
หากในอนาคตมีการกลายพันธุ์เป็นแบบอื่นก็จะต้องปรับสูตรการตรวจเชื้อใหม่ แต่วิธีปัจจุบันสามารถตรวจจับสายพันธุ์ที่มีอยู่ได้แน่นอน
ดังนั้น ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ได้แก่ วัคซีนยังจำเป็นต้องฉีด สวมหน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากๆ ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงถ้าจำเป็นต้องไปให้ปฏิบัติตามมาตรการในสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงอย่างเต็มที่ และATK ยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการตรวจเชื้อเบื้องต้น
พร้อมกันนี้ขอย้ำว่า เดินออกจากบ้านวันนี้ ศัตรูรอบตัวเรายังเป็นสายพันธุ์ เดลตา ไม่ใช่โอไมครอน ขณะนี้กำลังติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่าสายพันธุ์โอไมครอน รุนแรงแค่ไหน การแพร่เชื้อเร็วแค่ไหน หลบภูมิหรือไม่
ขณะเดียวกัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังเพาะเชื้อโอมิครอน ในห้องทดลอง อีกประมาณสัปดาห์จะเอามาทดลองกับภูมิคุ้มกันว่า จะสามารถจัดการกับตัวเชื้อไวรัสได้หรือไม่ สามารถป้องกันได้มากแค่ไหน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ระวัง!! วิจัยพบ โควิด-19 ‘โอไมครอน’ หลบภูมิคุ้มกันวัคซีนไฟเซอร์ได้บางส่วน
- ‘อังกฤษ’ หวั่น ‘โอไมครอน’ ระดมฉีดวัคซีนเข็ม 3 แนะทำงานอยู่บ้าน ‘ฝรั่งเศส’ บอกอาจมีเข็ม 4
- ‘หมอยง’ แนะหลักการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 รวมทุกสูตร ย้ำต้องให้วัคซีนเร็วขึ้น สู้โอไมครอน