COVID-19

‘มิว’ ยังไม่เข้าไทย ศูนย์จีโนม รามาฯ ชี้อยู่ไกล ไม่น่าเป็นห่วง เข้มเดินทางเข้าประเทศ

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาธิบดี เชื่อไวรัสโควิด สายพันธุ์ “มิว” ยังไม่น่าเป็นห่วง ระบาดในประเทศไกลไทย แนะเข้มคัดกรองเดินทางเข้าประเทศ โครงการแซนด์บ็อกซ์

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่า จากรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์มิว (Mu) รหัสพันธุกรรม B.1.621 ให้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) นั้น ขณะนี้ ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย โดยที่พบมีการระบาดในประเทศที่ห่างไกลจากเรา ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

มิว

สำหรับไวรัสโควิด สายพันธุ์ Mu ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบีย เมื่อเดือน มกราคม 2564 ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID มีการเผยแพร่ข้อมูลที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น และมีการถอดรหัสพันธุกรรม พบการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธ์ดังเดิมอู๋ฮั่นค่อนข้างมากถึง 50-60 ตำแหน่ง

ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยทำให้องค์การอนามัยโลก พิจารณายกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตัวที่ 5 หลังจากที่ก่อนหน้ามี 4 สายพันธุ์ที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง คือ

  • อีตา (Eta- B.1.525) ระบาดในหลายประเทศ
  • ไอโอตา (Iota – B.1.526 ) ระบาดในสหรัฐอเมริกา
  • แคปปา (Kappa- B.1.617.1) ระบาดในอินเดีย
  • แลมบ์ดา (Lambda- C.37) ระบาดในเปรู
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์

สายพันธุ์เหล่านี้ ถูกจัดเป็นกลุ่มสีเหลือง ที่ความรุนแรงยังต่ำกว่าสายพันธุ์ที่ต้องระวังหรือ Variants of Concern (VOC) เป็นกลุ่มสีแดงมี 4 ตัวที่ระบาดในขณะนี้ คือ เดลตา อัลฟา เบตา และแกมมา

นอกจากนี้ สายพันธุ์ Mu ยังไม่มีหลักฐานทางคลินิก ที่บ่งชี้ว่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่า อาจจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ความกังวลที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกัน เนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าไป หรือแอนติบอดี้สังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไป จะไม่ตอบสนอง

อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังสายพันธุ์ Mu สำหรับประเทศไทย ต้องเข้มงวดระบบการเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งในสถานกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและในโครงการแซนด์บอกซ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo