COVID-19

ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง เดือนสิงหา กทม. ปรับแผนด่วน รับผู้ป่วยเหลือง-แดง

กทม.คาด ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง เดือนสิงหาคม สั่งโรงพยาบาลปรับด่วน รับมือกลุ่มผู้ป่วยเหลือง-แดง เพิ่มศูนย์พักคอยชุมชน เร่งฉีดวัคซีน 25 จุดนอกโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ของ กรุงเทพมหานคร คาดว่า ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง เดือนสิงหาคมนี้ โดยในวันนี้ (6 สิงหาคม 2564) มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 กว่าราย และคาดว่าจะยังพบผู้ติดเชื้อใหม่ เพิ่มสูงตลอดเดือนสิงหาคมนี้

ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง

กทม. ปรับแผนรับมือ ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง 3 มาตรการ

1. ลดอัตราการเคลื่อนไหวของคน ตามมาตรการที่ ศบค. ออกมา

2. ปรับการรองรับสถานการณ์ เพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาล ทุกโรงพยาบาล ให้รับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยสีเขียวให้ทำ Home Isolation : HI หรือนำเข้าศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) หรือศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ

3. เร่งฉีดวัคซีน โดยในเดือนสิงหาคม ได้รับจัดสรรวัคซีนมาฉีดใน 25 จุดฉีด ซึ่งจะเริ่มฉีดสัปดาห์แรกในวันที่ 7-10 สิงหาคม 2564 ฉีดได้วันละ 40,000 กว่า รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ ในจุดฉีด 25 จุดด้วย

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ได้รับความร่วมมือจาก ไทยพีบีเอส เป็นศูนย์ประสานงานฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ โดยรับโทรศัพท์ และลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุ ผ่านทางโทรศัพท์ 40 คู่สาย เบอร์ 02-790-2855 รวมถึงจุดฉีดวัคซีน SCB จะให้บริการวอล์คอิน ซึ่งจะประกาศรายละเอียด ให้ทราบวัน-เวลา และจำนวนให้บริการอีกครั้ง

ขณะที่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ สามารถวอล์กอินได้ 11 จุดฉีด โดยตดตามข้อมูลได้ที่ เพจไทยร่วมใจ

82767734 2264344873665121 8479550101381971968 n

นอกจากนี้ ยังได้เปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อของ กรุงเทพมหานคร 65 แห่ง รองรับได้ 8,625 เตียง และปรับเป็น ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) จำนวน 7 แห่ง รับได้ 1,036 เตียง

พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มศูนย์พักคอยชุมชน โดยนำร่องศูนย์พักคอยชุมชนขนาดเล็ก 6-50 เตียง (Semi Community Isolation) จำนวน 19 แห่ง รับได้ 462 เตียง และศูนย์พักคอยในชุมชนขนาดกลาง ดูแลโดยชุมชน หรือผู้นำศาสนา เริ่มที่เขตกรุงธนใต้ 2 แห่ง รับได้ 660 เตียง

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกโดยทีม CCRT ใน 2-3 สัปดาห์ ได้ลงไปแล้ว 2,271 ชุมชน มีผู้รับบริการรวม 118,000 กว่าราย และจะเจาะไปในพื้นที่บ้านประชาชนทั่วไปด้วย

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการฉีดวัคซีน ที่ประชุม ศบค. ได้สั่งให้แยกยอด สำหรับ 25 จุดฉีดนอกโรงพยาบาล และโรงพยาบาลระบบหมอพร้อม รวมถึงพื้นที่เสี่ยงในชุมชน ในเดือนสิงหาคมนี้ ได้รับจัดสรรวัคซีน 25 จุดฉีดนอกโรงพยาบาล จำนวน 175,000 โดส ทยอยจัดส่งทุกสัปดาห์ ดังนี้

  • สัปดาห์ที่ 1-3 จะได้รับ 175,000 โดส
  • สัปดาห์ที่ 4 ได้ 225,000 โดส

ส่วนอีก 500,000 โดส แบ่งเป็นระบบหมอพร้อม ฉีดในโรงพยาบาล 132 แห่ง 174,000 โดส , เข็มสอง 57,000 โดส และอีก 269,000 โดสใช้ในการป้องกันการระบาด โดย CCR Team ฉีดให้กลุ่ม 608 และในพื้นที่เสี่ยง

ขณะที่วัคซีนไซเฟอร์ จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ภายใน 1 เดือน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องอุณหภูมิการเก็บรักษา ซึ่งสำนักอนามัย ได้ประชุมโรงพยาบาลทุกแห่ง ย้ำไม่ให้เอาคนนอกกลุ่มมาฉีดวัคซีนเด็ดขาด ซึ่งจากการสำรวจ มีบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลใน กทม. รวม 10,000 คน

ด้านการจัดหาวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม รวมถึงวัคซีนโมเดอร์นา อยู่ในขั้นตอนการจองซื้อวัคซีนกับหน่วยงาน ซึ่งกรุงเทพมหานคร พร้อมซื้อวัคซีนให้ได้มากที่สุด ตามที่สามารถจัดซื้อได้ โดยวัคซีนซิโนฟาร์ม น่าจะเสร็จได้ก่อนในเร็ว ๆ นี้ จะนำไปฉีดให้กลุ่มเปราะบางต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo