COVID-19

เตือนอีก 2 สัปดาห์ถึงจุดพีค!! หลังผู้ป่วยโควิดแห่กลับต่างจังหวัดเฉียดแสน

เตือนอีก 2 สัปดาห์ถึงจุดพีค!! หลังผู้ป่วยโควิดเดินทางกลับภูมิลำเนาสูงถึง 9.4 หมื่นคน ชี้อัตราการครองเตียงทั่วประเทศไม่รวม กทม.และปริมณฑล พุ่ง 73.49%

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงการบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาว่า ปัญหาในการติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนมาก ผู้ที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจึงได้ถูกนำส่งให้กลับไปรักษา จากข้อมูลการ Import Case ที่สะสมจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ผู้ติดเชื้อที่กลับไปรักษาในภูมิลำเนามีทั้งสิ้นจำนวน 94,664 คน

ผู้ป่วยโควิด

โดยจำนวนที่อยู่ในระบบยืนยันว่า เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ แยกเป็น 12 เขต ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน อยู่ในเขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 13,022 คน เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 13,761 คน เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 17,293 คน เขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 9,821 คน รวม 4 เขตเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับบ้าน

ส่วนที่เหลือจะกระจายในภาคเหนือจำนวน 3 เขต คือ

  • เขตสุขภาพที่ 1 เป็นภาคเหนือตอนบนจำนวนกว่า 4,000 คน
  • เขตสุขภาพที่ 2 นับจาก จ.ตากลงมาจำนวนกว่า 5,000 คน
  • เขตสุขภาพที่ 3 บริเวณ จ.นครสวรรค์ลงมาจำนวนกว่า 7,000 คน
  • ภาคกลางเขตสุขภาพที่ 4 ประมาณ 4,700 คน
  • เขตสุขภาพที่ 5 ประมาณ 7,800 คน
  • เขตสุขภาพที่ 6 ภาคตะวันออกประมาณ 6,800 คน
  • ภาคใต้ในเขตสุขภาพที่ 11 เป็นภาคใต้ตอนบนประมาณ 1,400 คน
  • เขตสุขภาพที่ 12 ภาคใต้ตอนล่างประมาณ 983 คน
ผู้ป่วยโควิด
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์

นพ.ธงชัย กล่าวถึงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยในต่างจังหวัด ว่า เราได้เตรียมการวางแผนรองรับในส่วนนี้ ภาพรวมทั่วประเทศยกเว้น กทม. เรามีเตียงอยู่ 156,189 เตียง ใช้ไปแล้ว 114,786 เตียง หรือ 73.49% มีเตียงคงเหลือ 41,185 เตียง เมื่อแบ่งเป็นเขตสุขภาพ พบว่า

  • เขตสุขภาพที่ 1 ครองเตียง 52%
  • เขตสุขภาพที่ 2 ครองเตียง 64%
  • เขตสุขภาพที่ 3 จะมีการครองเตียง 70%
  • เขตสุภาพที่ 4-6 มีการครองเตียงประมาณ 80%
  • เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 62%
  • เขตสุขภาพที่ 12 ที่มีการระบาดเช่นเดียวกัน มีการครองเตียง 74%

ผู้ป่วยโควิด

อีก 2 สัปดาห์เป็นช่วงพีค

นพ.ธงชัย กล่าวยืนยันว่า เรายังมีเตียงว่างในการรองรับผู้ป่วยได้อยู่ อย่างที่เรียนว่าหากเป็นเตียงสีเขียวไม่ค่อยยาก เพราะมีโอกาสในการจัดการได้ ไม่ว่าจะแยกกักตัวที่บ้าน กักตัวในชุมชน ซึ่งเตรียมการได้ไม่ยาก รวมถึงโรงพยาบาลสนาม ฉะนั้นตัวอย่างในหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เราใช้ศูนย์ประชุม 700 ปี ขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วยได้ 3,000 เตียง ในช่วงที่การระบาดพุ่งสูงไป 4,000 ราย ฉะนั้นการขยายเตียงเขียวไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนเตียงเหลืองและแดงก็จะมีความยากในการเตรียมพื้นที่ยากขึ้นตามลำดับ แต่ในภาพรวมยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยทุกพื้นที่

เตียงสีเหลืองอาจจะยากขึ้นหน่อย แต่เราใช้โรงพยาบาลชุมชน 800 กว่าแห่งในการรองรับสถานการณ์ตรงนี้ บางจังหวัดนำไปทำเป็นโรงพยาบาลโควิดเลย ส่วนผู้ป่วยโควิดสีแดง การเตรียมพื้นที่ค่อนข้างจำกัด แต่ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งก็ได้ขยายพื้นที่รองรับสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ปัจจุบันสีแดงมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 75% ยังมีเหลืออยู่บ้างประมาณพันกว่าเตียง ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในเขตสุขภาพไหน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขวางแผนรองรับสถานการณ์ไว้บางส่วนแล้ว และคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเป็นช่วงพีคของการส่งคนไข้กลับภูมิลำเนา” นพ.ธงชัย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo