COVID-19

นายจ้างต้องรู้ สั่งลูกจ้างตรวจโควิด ฉีดวัคซีน มีเงื่อนไข

นายจ้างต้องรู้ กรณีออกคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจ หรือเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ก็ต่อเมื่อลูกจ้างมีความเสี่ยง ที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ถ้าไม่มีความเสี่ยง ไม่สามารถสั่งได้

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า นายจ้างต้องรู้ กรณีจะประกาศหรือมีคำสั่งให้ลูกจ้างทุกคน เข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือเข้ารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (การฉีดวัคซีน) เพื่อป้องกันโรค ในกรณีที่ลูกจ้างมีความเสี่ยง หรือต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด–19  แม้มีเจตนาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจนายจ้างดำเนินการดังกล่าวได้

นายจ้างต้องรู้

อีกทั้งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ที่จะสั่งให้ลูกจ้างที่มีความเสี่ยง จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น ผู้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด–19 เป็นต้น เข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ตามวัน เวลา และสถานที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดไว้

ดังนั้น นายจ้างจึงไม่สามารถกระทำได้ หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างที่ไม่ผ่านการตรวจ หรือไม่ได้เข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเข้าทำงาน นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง และหากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรือมีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ให้แก่ลูกจ้างด้วย

อย่างไรก็ตาม หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 นายจ้างอาจมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เพื่อป้องกันโรคเป็นการเฉพาะรายได้

โสภา เกียรตินิรชา
โสภา เกียรตินิรชา

ทั้งี้ ให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งที่มีลักษณะกำหนดขึ้น เพื่อคัดกรองป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 อีกทั้งยังเป็นการป้องกันสุขภาพของบุคคลอื่น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยมาตรา 119 (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด– 19 นายจ้างควรให้ความรู้แก่ลูกจ้างว่า การเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด–19 รวมทั้งควรสร้างความเข้าใจให้แก่ลูกจ้างว่า การเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้แก่ตนเอง และภูมิคุ้มกันหมู่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด– 19 ได้อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo