COVID-19

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จ่อขอฉีดซิโนฟาร์ม กลุ่มเด็ก ล่าสุดผลิตยาน้ำเชื่อม ‘ฟาวิพิราเวียร์’

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จ่อขอ อย. ขึ้นทะเบียนฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ในเด็ก ป้องกันโควิด-19 หลังเริ่มมีผลวิจัยยืนยัน พร้อมจับมือคณะเภสัชฯ จุฬาฯ พัฒนาสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการาชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ กำลังเร่งรวมรวมเอกสารวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ครบถ้วน เพื่อยื่นต่อ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการขึ้นทะเบียนการให้บริการฉีดในกลุ่มเด็กในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากแม้ว่า กลุ่มเด็กที่ติดเชื้อ จะมีอาการน้อย แต่เป็นกลุ่มสำคัญที่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้เช่นกัน

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นอกจากนี้ กลุ่มเด็กยังมีความสำคัญเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น ซึ่งหลักการให้วัคซีน ต้องให้โดยเร็ว และปริมาณมากที่สุด ให้กว้างขวางอย่างเพียงพอ ถึงจะไปรอด

“จากข้อมูลในต่างประเทศ พบคนที่มีการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนไปแล้ว เกิดจากคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น เราคนใดคนหนึ่งได้วัคซีน ไปไม่รอด ทุกคนต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด”ศ.นพ.นิธิ กล่าว

ขณะเดียวกัน ยังมีการศึกษาวัคซีนหลายชนิด ที่กระบวนการวิจัยลดอายุไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กอายุ 12 ปี ลงไปเรื่อย ๆ และบางที่ลงไปถึง 3 เดือน ขณะที่การดำเนินการต้องเร็ว  เพราะคนที่ได้วัคซีนแล้ว ผลจากวัคซีนจะค่อย ๆ ลดลง จึงต้องได้รับวัคซีนให้มาก เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อพันธุ์ใหม่

ขณะที่สถานการณ์การระบาดระลอกนี้ และส่วนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเด็กค่อนข้างมาก ภาพรวมพบเด็กติดเชื้อ 10% จากคนไข้ทั้งหมด โดยเมื่อติดเชื้อแล้วการรักษาไม่ให้อาการหนักก็จะต้องได้รับยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ ภายใน 4 วันหลังเริ่มมีอาการ ก็จะช่วยลดความรุนแรง และลดการเสียชีวิตได้

11 2

จับมือเภลัช จุฬาฯ พัฒนายาน้ำฟาวิพิราเวียร์

ล่าสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังได้ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อม ฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อต้านเชื้อไวรัสโควิดสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย

ปัจจุบันการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็ก ต้องใช้วิธีการบดยาละลายน้ำ มีข้อจำกัดยามีตะกอน ปริมาณยาที่ได้รับไม่แน่นอน มีรสชาติขม ติดลิ้น ทำให้เด็กกลืนยาก จึงคิดค้นและพัฒนายาน้ำเชื่อมที่ผลิตขึ้น ให้ใช้ได้ง่าย ปริมาณยาคงที่ และมีปริมาตรยามากกว่ายาทั่วไป

สำหรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สามารถใชัในเด็กอายุต่ำกว่า 5-7 ปี หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ดได้ โดยการให้ยาจะให้วันละ 2 ครั้ง ห่างครั้งละ 12 ชั่วโมง ส่วนปริมาณที่ให้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของเด็ก และเฉลี่ยการใช้ยาจะอยู่ที่ 5 – 10 วัน ตามวิจารณญานของแพทย์ผู้รักษา

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ในคนไข้เด็กของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ช่วงอายุ 8 เดือนถึง 5 ปี จำนวน 12 ราย จากการติดตามการรักษา พบว่าผลตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง

ขณะนี้ กำลังการผลิตยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สามารถผลิตและแจกจ่ายให้ผู้ป่วยประมาณ 300 คนต่อสัปดาห์ ในอนาคตหากโรงพยาบาลใดที่มีความพร้อมในการผลิต สามารถขอสูตรตำรับยาดังกล่าวไปผลิตได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเรื่องคุณภาพ ส่วนแพทย์ หรือสถานพยาบาล สามารถขอรับยาได้ผ่านทางช่องทาง www.favipiravir.cra.ac.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo