COVID-19

‘หมอเฉลิมชัย’ รวม 11 เรื่องควรรู้ ‘วัคซีนไฟเซอร์’ ที่ใครก็อยากฉีด

“หมอเฉลิมชัย” รวม 11 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ ที่ล็อตแรกส่งถึงไทยแล้ว 1.54 ล้านโดส ที่มาของการบริจาคจากสหรัฐ วิธีการฉีด ผลข้างเคียง

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” โดยมีข้อความว่า

หมอเฉลิมชัย

วัคซีน Pfizer 1.54 ล้านโดส มาถึงไทยเรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญของวัคซีน Pfizer ที่ทุกคนควรทราบ

วันนี้ 30 กรกฎาคม 2564 ทางการสหรัฐอเมริกา ได้จัดส่งวัคซีน Pfizer ล็อตแรกจำนวน 1.54 ล้านโดส มาถึงกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว และจะมีล็อตที่สองตามมาอีก 1 ล้านโดส รวมเป็นวัคซีน Pfizer ที่สหรัฐฯ มอบให้ไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 2.54 ล้านโดส

จากกรณีที่จะเริ่มมีการฉีดวัคซีน Pfizer ในประเทศไทยแล้ว จึงมีสาระสำคัญที่ควรรับรู้รับทราบ เพราะมีความสำคัญ และแตกต่างกับวัคซีนเดิมอยู่ดังนี้

1. การได้รับวัคซีนในครั้งนี้ เป็นการประสานงานโดยตรงระหว่างรัฐกับรัฐ คือ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กับกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

2. วัคซีนที่สหรัฐอเมริกา มอบให้ไทยในครั้งนี้ อยู่ในโควต้ารวมที่สหรัฐจะมอบให้กับทุกประเทศทั่วโลก จำนวน 80 ล้านโดส

3. สมาชิกวุฒิสภาลูกครึ่งไทยอเมริกัน Tammy Duckworth ได้แจ้งให้ทราบว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านโดส จึงรวมเป็นวัคซีนทั้งสิ้น 2.54 ล้านโดส

4. วัคซีนของบริษัท Pfizer เป็นเทคโนโลยี mRNA ซึ่งมีความบอบบางมาก จึงต้องเก็บรักษาเป็นพิเศษ ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส

5. ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส จะเก็บรักษาวัคซีนได้นาน 6 เดือน แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นานเพียงหนึ่งเดือน

61039dd7f316c10c8e377e86

6. การตรวจสอบวันหมดอายุของวัคซีน จึงมีความแตกต่างกับวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ซึ่งเก็บอยู่ที่อุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา เพราะเมื่อย้ายวัคซีนของ Pfizer จากที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส มาเก็บอยู่ในตู้เย็นธรรมดาแล้ว อายุการใช้งานจะเหลือเพียงหนึ่งเดือน ไม่สามารถจะใช้วันหมดอายุที่ติดอยู่ที่ขวดได้ และจะต้องเร่งดำเนินการฉีดให้หมดภายในหนึ่งเดือนดังกล่าว

7. จะต้องมีการเจือจางวัคซีนด้วยน้ำเกลือ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมา แตกต่างกับวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca ซึ่งสามารถดูดวัคซีนแล้วฉีดให้กับประชาชนได้โดยตรงแต่ของไฟเซอร์จะต้องนำมาทำการละลายจากจุดเยือกแข็ง แล้วเจือจางด้วยน้ำเกลือ

8. การฉีดแต่ละขวด จะฉีดได้ 6 โดส ๆ ละ 0.3 ซีซี ซึ่งแตกต่างกับของ Sinovac ซึ่งฉีดหนึ่งโดส และของ AstraZeneca ซึ่งฉีด 12 โดส และปริมาณ 0.5 ซีซี

9. วัคซีน Pfizer พบผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยมากเช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทอื่นๆ แต่สิ่งที่ควรทราบ เพราะมีความแตกต่างกันได้แก่

  • มีการแพ้รุนแรงแบบช็อก (Anaphylaxis) ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยช่วงเริ่มต้นพบ 11 รายต่อ 1,000,000 โดส และในปัจจุบันพบ 4.7 รายต่อ 1,000,000 โดส ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
  • พบมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายอายุน้อย
  • 10. จึงต้องมีการเตรียมการที่เพิ่มเติมจากการฉีดวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ได้แก่
    ต้องมีการติวเข้มเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่างๆ การเปลี่ยนแปลงวันหมดอายุ การวางทิ้งไว้เพื่อให้ละลายตัวก่อนการเจือจางวัคซีนลง และขนาดการฉีดวัคซีนที่เปลี่ยนแปลงไป
  • จะต้องวางแผนจัดการฉีด รวมทั้งการกระจายวัคซีน ต้องให้รวดเร็วเร่งฉีดให้ครบก่อนวันหมดอายุ
  • ต้องเตรียมการรองรับอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขการแพ้แบบรุนแรง แม้จะเกิดขึ้นน้อย เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้คือ การแพ้แบบช็อก ซึ่งถ้าได้มีการเตรียมการไว้อย่างดี ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกราย

ไฟเซอร์ จัดสรร

11. กลุ่มที่จะได้รับวัคซีน 1.54 ล้านโดสแรก ประกอบด้วย

  • บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 700,000 คน หรือ 700,000 โดส
  • กลุ่มเสี่ยงที่ประกอบด้วยผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และเจ็ดกลุ่มโรค 6.45 แสนโดส
  • กลุ่มชาวต่างประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 1.5 แสนโดส
  • เพื่อใช้ในการทดลองศึกษาวิจัย 5000 โดส
  • สำรองไว้ตอบโต้การระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ 40,000 โดส

ก็นับเป็นข่าวดี ที่จะได้มีวัคซีนเพิ่มเติมและหลากหลาย เป็นทางเลือก แต่จำเป็นจะต้องเข้าใจรายละเอียด โดยเฉพาะการเตรียมการของวัคซีน Pfizer ซึ่งจะมีความยุ่งยากมากขึ้น และมีผลข้างเคียงที่แตกต่างไปจากวัคซีนเดิม ซึ่งถ้าเตรียมการไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทุกอย่างก็จะเรียบร้อยดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo