COVID-19

‘กรมการแพทย์’ ย้ำ ต้องให้หมอตัดสิน ‘ผู้ป่วยโควิด’ รักษาตัวที่บ้าน

กรมการแพทย์ ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้าน ต้องผ่านการพิจารณาจากแพทย์ก่อน และต้องเข้าข่าย  7 เกณฑ์  พร้อมเปิดวิธีปฏิบัติตัว และจัดระบบติดตามอาการ

วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้าน และที่ชุมชนว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์การดูแลที่บ้าน (Home Isolation : HI) คือ ผู้ป่วยใหม่อาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการอยู่ระหว่างรอเตียง หรือผู้ป่วยที่ไปรับรักษามาแล้ว 7-10 วัน อาการคงที่ ไม่มีปัญหา ให้กลับมาทำ HI ต่อที่บ้าน

ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้าน

เกณฑ์ที่แพทย์จะพิจารณาว่า ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้าน ได้หรือไม่ 

  1. ติดเชื้อไม่มีอาการ
  2. อายุน้อยกว่า 60 ปี
  3. สุขภาพแข็งแรง
  4. พักอยู่คนเดียว หรือมีคนพักรวมไม่เกิน 1 คน
  5. ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 30
  6. ไม่มีโรคร่วมสำคัญ คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  7. ความยินยอมในการแยกตัว ซึ่งถ้าป่วยเข้าเกณฑ์ต้องแยกกักที่บ้าน สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสถานที่ที่ตรวจอยู่ หากติดขัดสามารถประสานมาที่ 1668

ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้าน

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยขณะดูแลรักษาที่บ้าน 

  1. ไม่ให้ใครมาเยี่ยม
  2. ห้ามเข้าใกล้คนอยู่ด้วย เว้นระยะห่าง 2 เมตร
  3. แยกห้องพัก หากทำไม่ได้ให้แยกจากคนอื่นให้มากที่สุด อากาศต้องถ่ายเท
  4. ห้ามกินดื่มด้วยกัน
  5. สวมหน้ากากตลอดเวลา
  6. ล้างมือบ่อย ๆ
  7. แยกเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหมด
  8. แยกซักเสื้อผ้า
  9. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หรือต้องใช้หลังสุด และทำความสะอาด
  10. แยกขยะ

ทั้งนี้ สถานพยาบาลจัดระบบเข้ามาดูแลติดตามอาการ โดยจัดปรอทวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด มีระบบเทเลเมดิซีน ให้ยาตามดุลพินิจแพทย์ จัดอาหาร 3 มื้อ ติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา หากอาการเปลี่ยนแปลงแย่ลง จะรีบนำส่งโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ดูแล หรือโรงพยาบาลที่พร้อมดำเนินการ

ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้าน
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ก็เริ่มแล้วเช่นกัน  โดย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับกรมการแพทย์ เตรียมดำเนินการศูนย์พักคอย 16 ศูนย์ ใน 15 เขต รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เตรียมไว้สำหรับประมาณ 2,500 คน โดยมีโรงพยาบาลเจ้าภาพของแต่ละศูนย์  จัดรถพยาบาล แพทย์ พยาบาล ระบบไอทีติดตามแบบเดียวกับ HI ทั้งหมดเพื่อเก็บเตียงในโรงพยาบาลที่มีจำกัด ให้ผู้ป่วยอาการปานกลาง หรือสีเหลือง และอาการหนัก หรือสีแดง ให้ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

“ส่วนกรณีบ้านไม่มีห้องแยก อยู่รวมกันหลายคน ถ้าที่พักอาศัยมีความเหมาะสม ห้องแยกต่างหาก ก็สามารถทำตามเงื่อนไขได้ ก็ใช้ HI ได้เช่นกัน แต่กรณีพื้นที่จำกัด คนไม่ติดเชื้อไปอยู่ร่วมติดเชื้ออาจจะเสี่ยง อาจจะไม่อนุญาต ขึ้นกับดุลพินิจแพทย์ที่ดูแล อาจจะนำผู้ป่วยรายนั้นไปอยู่ศูนย์พักคอย ให้ปลอดภัยกับสมาชิกครอบครัว ที่ไม่ติดเชื้อ”

ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้าน
โกเมนทร์ ทิวทอง

ทางด้านด้าน นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว กล่าวว่า ภารกิจของทีม Comprehensive Covi-19 Response Team (CCR Team) คือ ให้คำปรึกษา และให้ความรู้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ดูแลรักษาที่บ้าน โดยมีการดูแลติดตามอาการ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น จะประสานส่งต่อโรงพยาบาล รวมถึงค้นหากลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์เพื่อให้วัคซีน

ทีมนี้ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ร่วมด้วยอาสาสมัครสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชน บุคลากร กทม. เจ้าหน้าที่เขต หรือกำลังทหารตำรวจ คอยช่วยประสานการลงพื้นที่ ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลพื้นที่ กทม.ทั้ง 6 โซน เตรียมทีมขั้นต่ำ 188 ทีม ดูแลใกล้บ้านใกล้ใจใน 2 สัปดาห์นี้ให้มากที่สุด ประชาชนน่าจะได้เข้าถึงบริการมากขึ้น และมีที่ปรึกษา

นอกจากนี้ สำนักสนับสนุนระบบปฐมภูมิฯ ยังจัดตั้งศูนย์ประสานงานสนับสนุน CCR Team เบอร์ 0-2590-1933 เพื่อประสานคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกปฐมภูมิที่จะเข้ามาร่วมภารกิจครั้งนี้ โดยวันนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดตัว CCR Team และส่งลงพื้นที่ซอยลาซาลแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo