COVID-19

สปสช. จ่ายให้ ผู้ป่วยโควิด กักตัวที่บ้าน อาหาร 3 มื้อ ค่าบริการ รพ.

สปสช. หนุน ผู้ป่วยโควิด กักตัวที่บ้าน จ่ายค่าอาหาร 3 มื้อ ไม่เกินวันละ 1,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 1,100 บาท ประชุม รพ. วันนี้ เตรียมพร้อมขยายระบบไปทั่วประเทศ แก้ปัญหาเตียงเต็ม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้มีจำนวนคนไข้ปริมาณมาก  ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหาย กับที่เข้ามาใหม่ไม่สมดุลกัน จนเกิดปัญหาเตียงเต็ม ทำให้มีการนำแนวทางให้ ผู้ป่วยโควิด กักตัวที่บ้าน หรือ Home isolation มาใช้ โดยเริ่มจาก รพ.ราชวิถี เป็นโครงการนำร่อง

ผู้ป่วยโควิด กักตัวที่บ้าน

ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมกับ รพ. ในวันนี้ เพื่อเตรียมพร้อมขยายระบบดังกล่าวไปทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเตียงว่างมีไม่พอ การเพิ่มโรงพยาบาลสนาม ไม่ทันกับการเพิ่มจำนวนของคนไข้ในช่วงนี้ และสิ่งสำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานหนักมาหลายเดือน มีไม่เพียงพอ

สำหรับ ระบบ Home isolation ของไทย จะต่างจากของต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศจะให้คนไข้ดูแลตัวเองทุกอย่าง แต่ระบบของไทย จะยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล มีการให้อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่าง ๆ มีแพทย์โทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล ตรวจสอบอาการทุกวัน มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน หรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล

“ระบบของไทย จึงไม่ใช่การผลักผู้ป่วย ให้ไปเผชิญชะตากรรมเดียวดายอยู่ที่บ้าน แต่ดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เป็นที่บ้าน ซึ่งคนไข้ที่จะทำแบบนี้ ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ และลักษณะบ้าน ว่ามีความเหมาะสมที่จะกักตัวได้หรือไม่”นพ.จเด็จ กล่าว

ในส่วนของ สปสช. จะสนับสนุนค่าบริการให้แก่ รพ. ตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา รวมทั้งสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยร่วมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกินวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา 14 วัน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กลัว คือ ผู้ป่วยโควิดไม่อยู่บ้าน แต่ออกมาข้างนอก ซึ่งต้องมีการแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวกันระดับหนึ่ง เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎและอยู่บ้านจริง ๆ

นอกจากการทำ Home isolation แล้ว ในบางสถานที่ ที่มีผู้ติดเชื้อหลายคน ก็อาจทำเป็นลักษณะ Community isolation ได้ คือนำผู้ป่วยหลาย ๆ คนไปดูแลในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะ ในชุมชน เช่น ในโรงงาน ในวัด เป็นต้น มีรถเอกซเรย์ รถแล็บไปตรวจ มีแพทย์ใช้ระบบประชุมทางไกล ดูแลสอบถามอาการทุกวัน ทาง สปสช.ก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น หลักการคือ ดูแลเสมือนอยู่ในโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ให้ มีระบบการดูแลติดตามอาการทุกวัน และมีการส่งข้าว ส่งน้ำให้ 3 มื้อ นอกจากนี้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าตรวจพบเชื้อแล้วจะให้ไปอยู่บ้านทันที อาจจะเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลก่อน 7 วัน พอเชื้อในตัวหมดลง อาการดีขึ้นก็กลับไปดูแลตัวเองที่บ้านให้ครบ 14 วันก็ได้ โดยแนวทางนี้จะนำามาใช้ในสถานการณ์ที่เตียงเริ่มมีความตึงตัวเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo