COVID-19

เริ่มแล้ว! กักตัวที่บ้าน-ในชุมชน ป่วยโควิดแบบไหนเข้าเกณฑ์ เช็คที่นี่

กักตัวที่บ้าน-ในชุมชน ทางออกเตียงเต็ม เปิดเงื่อนไข ผู้ป่วยโควิดเข้าเกณฑ์ หวังช่วยผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เข้าระบบการรักษาเร็ว สธ.เผยมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนใช้ระบบแล้ว 400-600 ราย

จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับอัตราเตียงรักษาผู้ป่วยที่ลดลง จนเข้าสู่ภาวะเตียงเต็ม ส่งผลให้ กระทรวงสาธารณสุข นำระบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) มาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น

กักตัวที่บ้าน

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำ 2 มาตรการ คือ การแยกกักตัวผู้ป่วยที่บ้าน และการกักตัวในชุมชนมาใช้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีจำนวนมากขึ้น โดยอัตราการครองเตียงของ กทม.และปริมณฑล เพิ่มจากเดือนที่ผ่านมาถึง 10,000 ราย

ทั้งนี้ จากวันที่ 9 มิถุนายน 2564 มีผู้ป่วย 19,629 ราย เพิ่มเป็น 30,631 ราย ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก (สีเขียว) 76% ผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) 20% และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 4% โดยจำนวนผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 714 ราย เป็น 1,206 ราย ทำให้บุคลากรแบกรับภาระงานหนักมาก

เปิดเงื่อนไข

  • ผู้ติดเชื้อ ต้องสมัครใจและสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้
  • สถานที่เหมาะสม ใช้จุดแข็งของไทยคือ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) โดย Home Isolation บ้านต้องมีห้องนอนแยก ส่วน Community Isolation ใช้วัด หรือโรงเรียน
  • มีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวัน โดยแพทย์ พยาบาล วันละ 2 ครั้ง
  • มีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน
  • ต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล (มีแผนขยายไปยังชุมชนอบอุ่น และสถานพยาบาลใกล้บ้าน)
  • ผู้ติดเชื้อจะได้รับเครื่องวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และแนะนำวิธีทดสอบง่าย ๆ กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะรับมารักษาที่โรงพยาบาล
  • มีระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน

กักตัว

สำหรับการแยกกักตัวผู้ป่วยที่บ้าน คือ การ admit ผู้ป่วยรายใหม่ ไว้ดูแลที่บ้านก่อน หากอาการแย่ลง จะรับมาดูแลรักษาที่โรงพยาบาล และเป็นการบริหารจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน จะนำผู้ป่วยที่รักษา 7 – 10 วันแล้วอาการดีขึ้น ออกไปแยกกักตัวที่บ้าน จะช่วยให้มีเตียงเพิ่มอีกประมาณ 40 – 50% เพื่อรับผู้ป่วยใหม่

ส่วนการแยกกักตัวในชุมชน กรมการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ ได้เตรียมสถานที่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้สถานที่โล่ง ๆ เช่น ศาลาวัด หรือหอประชุมโรงเรียน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แคมป์คนงานหรือหมู่บ้าน ที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อ และไม่ควรเกิน 200 คนเพื่อลดแออัด และสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ แยกน้ำเสียหรือขยะออกจากชุมชนได้ โดยรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ไม่ต้องใช้ออกซิเจน

เกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย กักตัวที่บ้าน

  • ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
  • อายุไม่เกิน 60 ปี
  • อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  • ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคร่วม เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  • ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง โดยสถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียน แนะนำการปฏิบัติตัว ติดตามประเมินอาการ และรับส่งผู้ป่วยมารักษาในสถานพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น

สธ. 2

ปัจจุบัน มีผู้ขึ้นทะเบียน Home Isolation ที่โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี 200 กว่าราย และขึ้นทะเบียน Community Isolation อีกกว่า 200 ราย และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมแล้วประมาณ 400 – 600 ราย

ขณะที่เ สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณค่าอาหารให้กับผู้ป่วยทุกราย สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการร่วมโครงการ ติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานพยาบาลอื่น ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation) เป็นการชั่วคราว

พน้อมกันนี้ ได้จัดทำหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่าย Home Isolation  เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างรวดเร็ว ดูแลค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นภาระ โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo