COVID-19

เตรียมฉีดเข็ม 3 ‘แอสตร้าฯ’ ให้บุคลากรทางการแพทย์ หลังพยาบาลเสียชีวิตฉีดซิโนแวก

วัคซีนเข็ม 3 ถกพรุ่งนี้ แนวทาง “บูสเตอร์ โดส” บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เบื้องต้นเป็นแอสตร้าฯ  ขณะนี้ติดเชื้อไปแล้ว 880 ราย เผยพยาบาลที่เสียชีวิต ฉีดซิโนแวค ครบ 2 เข็ม แต่ดูแลคนป่วยต่อเนื่อง มีความเสี่ยงติดเชื้อและเป็นโรคอ้วน ทำให้อาการรุนแรง 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่เตรียมเสนอให้บุคลากรทางการแพทย์ ได้รับวัคซีนโควิดเข็ม 3 (บูสเตอร์ โดส) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งวัคซีนจะต้องเป็นวัคซีนที่แตกต่างจากชนิดแรกที่เคยได้รับไปแล้ว

วัคซีนเข็ม 3

 

“คณะกรรมการวิชาการมีความเห็นว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวก 2 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันลดลงได้หลังจากฉีดไประยะหนึ่งแล้ว จึงเป็นที่มาของการเสนอให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็ม 3 แก่บุคลากรแพทย์ด่านหน้า โดยจะต้องเป็นวัคซีนที่แตกต่างจากชนิดแรกที่ได้รับไป เช่น วัคซีนไวรัลเวคเตอร์ หรือ แอสตร้าเซนเนก้า หรือ วัคซีนชนิด mRNA ที่อนาคตจะได้รับการบริจาค ส่วนหนึ่งจากไฟเซอร์ ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการนี้ จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เช้าวันจันทร์นี้”

พร้อมระบุว่า มีข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เมษายน – 10 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อโควิดแล้ว 880 ราย โดยส่วนใหญ่ 54% เป็นพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี  รองลงมาเป็นวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุ 20-29 ปี รองลงมา 30-39 ปี

นอกจากนี้ ในบุคลากรแพทย์ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ 97% ได้รับวัคซีนแล้ว ขณะที่มีบุคลากรแพทย์เสียชีวิต 7 ราย โดยในจำนวนนี้ 5 รายไม่ได้รับวัคซีน, มี 1 รายที่ได้รับวัคซีนซิโนแวก 1 เข็ม และอีก 1 รายที่ได้รับวัคซีนซิโนแวก ครบ 2 เข็ม  รายหลังสุดนี้ คือพยาบาล ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

แพทย์

“พยาบาลที่เสียชีวิตนี้ ได้รับวัคซีนซิโนแวกเข็มแรกเดือนเม.ย. และเข็ม 2 เดือนพ.ค. แต่ด้วยการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วยโควิดในเดือนมิ.ย. จึงมีโอกาสในการได้รับเชื้อ ประกอบกับมีภาวะเสี่ยง คือเป็นโรคอ้วน จึงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้ว จะมีอาการรุนแรง”

นพ.โสภณ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น เพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการรับวัคซีนต้านโควิด ซึ่งผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการป่วยที่รุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงการระบาดในสายพันธุ์ของไวรัสโควิดจากอัลฟา (อังกฤษ) มาเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่ทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดโดยวัคซีนซิโนแวกอาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพดีเท่าเดิม ดังนั้นผู้ที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวกครบ 2 เข็มไปแล้ว โดยเฉพาะบุคลากรแพทย์ด่านหน้าที่ถือว่ามีความเสี่ยง จึงควรได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดเข็ม 3

“คณะกรรมการวิชาการจึงเห็นว่า บุคลากรแพทย์ควรต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม ซึ่งได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คาดว่าจะเริ่มได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อฉีดเป็นเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น แต่ถ้าใครจะรอวัคซีน mRNA ก็อาจต้องรออีกระยะหนึ่ง”

สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลของสายพันธุ์ของไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ ย่อมจะทำให้แนวทางการให้วัคซีนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การฉีดวัคซีนสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดีขึ้น และให้ผู้รับวัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้แก่บุคลากรแพทย์นี้ จะมีการเก็บข้อมูลบันทึกไว้เป็นงานวิจัย โดยจะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน และศึกษาว่าการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 จะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด และภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเพียงใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ประโยชน์ต่อบุคลากรแพทย์ และกลุ่มอื่นๆ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดได้ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo