COVID-19

โอไมครอนตระกูล ‘เฟลิร์ท’ สายพันธุ์ KP.2 ภัยคุกคามใหม่จากโควิด-19

ศูนย์จีโนมฯ เตือนจับตาโอไมครอนตระกูล เฟลิร์ท สายพันธุ์ KP.2 ภัยคุกคามใหม่จากโควิด-19 คาดระบาดแทนที่ โอไมครอน JN.1 ท้าทายวัคซีนและมาตรการป้องกัน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  เรื่อง โอไมครอนตระกูล เฟลิร์ท ภัยคุกคามใหม่จากโควิด-19 ท้าทายวัคซีนและมาตรการป้องกัน

สายพันธุ์ KP.2

แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ ที่ดูเหมือนจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์อาจกลับมารุนแรงอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส SARS-COV-2 ตระกูลใหม่ ที่มีฉายาว่า FLiRT (เฟลิร์ท)  ซึ่งพบว่ามีการระบาดไปแล้วถึง 1 ใน 4 (25%) ของบรรดาสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ทั้งหมดที่ระบาดอยู่ในสหรัฐ

ด้วยเหตุนี้ทำให้นิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2567 ได้ออกมาตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับโอไมครอน KP.2 ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเฟลิร์ท ที่กำลังสร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก

สายพันธุ์ KP.21

โควิด-19 ตระกูลเฟลิร์ท มีลักษณะเฉพาะคือมีการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม 2 ตำแหน่งสำคัญได้แก่

1. F456L ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน PHENYLALANINE (F) ไปเป็น LEUCINE (L) ที่ตำแหน่ง 456

2. R346T ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน ARGININE (R) ไปเป็น THREONINE (T) ที่ตำแหน่ง 346

การกลายพันธุ์เหล่านี้เกิดขึ้นในโดเมน RECEPTOR-BINDING (RBD) อันเป็นบริเวณบนโปรตีนหนามของไวรัสที่มีบทบาทสำคัญในการจับกับตัวรับ ACE2 ที่อยู่บนผิวเซลล์ของมนุษย์

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนในตำแหน่งดังกล่าว จึงอาจส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของไวรัส ในการเข้าสู่เซลล์ และความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน

สมาชิกในตระกูลเฟลิร์ท ทั้งหมด พบว่าโอไมครอน KP.2 นั้นโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากด้วยข้อมูลล่าสุดจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (US CDC) ณ. วันที่ 27 เมษายน 2567 ระบุว่ามีการระบาดของโอไมครอน KP.2 ประมาณถึง 25% จากการสุ่มตรวจและถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 ทั้งจีโนมจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ

ในขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ ในตระกูลเฟลิร์ท เช่น KP.1.1, KS.1 และ JN.1.16.1 ฯล นั้นยังไม่ได้มีการแพร่ระบาดมากนักทั้งในสหรัฐ และทั่วโลก

อาการติดเชื้อตระกูลFLiRT ไม่ต่างจากโอไมครอนทั่วไปคือ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีไข้ และบางครั้งมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร แต่แพร่ติดต่อรวดเร็วเหนือกว่าโอไมครอน JN.1

จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หรือไม่?

ศ. นพ. เอริก โทโพล (ERIC TOPOL) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและมีบทบาทสำคัญในการอธิบายงานวิจัยแก่สาธารณชน และผลักดันยุทธศาสตร์สาธารณสุขที่ดีขึ้นเชื่อว่าถึงแม้โอไมครอน KP.2 จะเพิ่มจำนวนขึ้นมา จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วสหรัฐ แทนที่โอไมครอน JN.1 ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ตระกูลเฟลิร์ทจะสามารถก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ เพราะว่าปริมาณไวรัส SARS-COV-2 ที่ตรวจพบในน้ำเสียที่มีอุจจาระปัสสาวะปนเปื้อนจากบ้านเรือนของประชาชนชาวอเมริกันในขณะนี้ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลกับผู้เสียชีวิตทั่วโลก ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นถึงกลางเดือนเมษายนบ้าง แต่ก็ยังต่ำกว่าจำนวนไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจเป็นผลจากการระบาดของโอไมครอน KP.2 และสมาชิกในกลุ่มเฟลิร์ท อยู่บ้าง แต่คาดว่าจะก่อให้เกิดคลื่นการระบาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากผู้ที่เคยติดเชื้อโอไมครอน JN.1 ก่อนหน้านี้ น่าจะยังมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์ KP.2 ได้อยู่ เพราะความแตกต่างทางพันธุกรรมของทั้งสองสายพันธุ์ระหว่างโอไมครอน JN.1 และ KP.2 ยังไม่มากพอที่จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้อย่างสิ้นเชิง

ประกอบกับงานวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่า ความสามารถในการติดเชื้อของสายพันธุ์ KP.2 (กับเซลล์เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการนั้นกลับ) ต่ำกว่าโอไมครอน JN.1

สายพันธุ์ KP.22

วัคซีนปัจจุบันสามารถป้องกันได้หรือไม่?

งานวิจัยทั้งจากจีนและญี่ปุ่นพบว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ยังสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันประเภทเซลล์เม็ดเลือดขาว ให้เข้าทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดี ซึ่งช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตได้ดี

แต่ในขณะเดียวกัน ไวรัสกลุ่มเฟลิร์ท มีการกลายพันธุ์ที่หนาม ทำให้สามารถหลบหนีภูมิต้านทานประเภทแอนติบอดี ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน หรือติดเชื้อตามธรรมชาติ ได้ดีกว่าโอไมครอน JN.1 ทำให้โอไมครอน KP.2 แพร่ระบาดได้มากกว่า และเข้ามาแทนที่โอไมครอน JN.1 แต่ไม่มีอาการรุนแรง

ศ. นพ. เอริก โทโพล ระบุว่า นี่อาจไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีนัก เพราะคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นล่าสุด ประมาณ 30% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐ ได้รับการฉีดในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนของปีที่แล้ว ซึ่งหมายความว่าระดับภูมิคุ้มกันประเภทแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีนนั้นก็เริ่มลดลงไปแล้ว

อีกทั้งวัคซีนป้องกันโอไมครอนที่ใช้ในปัจจุบันนั้น ยังใช้ต้นแบบการผลิตเป็นโอไมครอน XBB.1.5 ที่เคยระบาดก่อนหน้าโอไมครอน JN.1 และ KP.2 ทำให้แอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนดังกล่าวอาจไม่สามารถป้องกันโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอน KP.2 ได้อย่างจำเพาะเจาะจง

ทางด้านองค์การอนามัยโลก ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา แนะนำให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 พัฒนาสูตรวัคซีนใหม่สำหรับใช้ในปีหน้า 2568 โดยให้ใช้โอไมครอน JN.1 เป็นต้นแบบในการผลิตแทนโอไมครอน XBB.1.5 เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพตามทันการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่มีโอไมครอน JN.1 เป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่าสายพันธุ์ KP.2 จะระบาดเข้ามาแทนที่โอไมครอน JN.1 ในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยสูงสุดจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ยังคงวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ประชาชนไม่ควรการ์ดตก ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขในการป้องกันการติดต่อของโควิด-19 อยู่เช่นเดิม นั่นคือ

1. ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตามกำหนด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ด้วยวัคซีนเจเนอเรชันใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

2. ทำการตรวจ ATK ให้แน่ใจก่อนเข้าร่วมงานรวมกลุ่มชุมนุม

3. พักอยู่บ้านเมื่อรู้ตัวว่าติดเชื้อโควิด-19

4. พิจารณาการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยังมีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากในสถานที่หรือชุมชนแห่งนั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo