COVID-19

ชงคณะกรรมการโรคติดต่อ ไฟเขียว ‘Community Isolation’ 12 ก.ค.นี้

กรมควบคุมโรค เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อ ใช้ระบบ Community Isolation แก้วิกฤติเตียงโควิดเต็ม ชี้การดูแลต้องไม่ต่างจากฮอสพิเพล ด้าน สปสช. พร้อมไฟเขียวเบิกจ่ายค่าดูแลรักษา

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 กรมควบคุมโรค จะนำการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation)  เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และให้มีกฎหมายรองรับในการดำเนินการ ควบคู่ไปกับระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation) ที่ได้ดำเนินการแล้ว

Community Isolation

ทั้งนี้ การนำระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้าน และการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน มาใช้ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผู้ป่วยครองเตียงเพิ่มสูงขึ้นถึง 10,000 รายภายใน 1 เดือน ขณะที่ผู้ป่วยวิกฤตมีจำนวนถึง 400 รายแล้ว ทำให้เตียงผู้ป่วยไม่พอ

ขณะที่ กรมการแพทย์ ได้เตรียมแนวทางและจัดทำเกณฑ์การดูแล Home Isolation ไว้แล้ว ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถี นำร่องดูแลผู้ป่วย 18 ราย โดย รพ.ได้มอบที่วัดไข้ วัดค่าออกซิเจนปอดด้วยการออกกำลังกาย เอกซเรย์ปอดในรายที่จำเป็น และมีระบบติดตาม ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่กลับเข้ารักษาที่ รพ.เพียง 2 ราย  จนถึงปัจจุบันใน รพ.สังกัดกรมการแพทย์ มีผู้ป่วยในระบบ Home Isolation แล้วเกือบ 100 ราย

“คนไข้กลุ่มนี้ นอกจากเป็นผู้ป่วยที่รอการรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาที่โรงพยาบาลมาแล้ว 10 วัน จนมีอาการดีขึ้น ไม่ต้องใช้ออกซิเจน และสามารถกลับไปดูแลต่อที่บ้านจนครบ 14 วันได้”นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ป่วยที่รอเข้ารักษาที่โรงพยาบาลนั้น ยอมรับว่ามีความเสี่ยงอยู่ ทั้งกับผู้ป่วยและชุมชน เพราะผู้ป่วยที่อยู่บ้าน อาจมีอาการแย่ลงได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี ขณะเดียวกัน หากไม่มีการแยกผู้ป่วยดูแลได้จริง ก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายเชื้อได้ แต่ด้วยสถานการณ์เตียงเต็ม หมอ พยาบาล ที่เหนื่อยแล้ว ทำให้ต้องนำระบบนี้มาช่วย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ e1625651875414
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ด้าน พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนเตียงรองรับในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องแยกผู้ป่วยสีเขียวออก เพื่อให้มีเตียงเพียงพอ สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงโดยไม่ต้องรอ

ดังนั้น จึงต้องมีการจัดทำระบบ ดูแลที่บ้าน และ ดูแลในชุมชน โดยการสนับสนุนทั้งจากกรมการแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะทำให้ระบบมีความพร้อม และเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ช่วยลดอัตราเสียชีวิตและติดเชื้อได้

สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวในชุมชน เป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้มาตรฐานการดูแลไม่ด้อยกว่า Hospitel เพราะโรคนี้ทำให้เกิดภาวะปอดบวมเงียบได้ จึงต้องไม่ใช่แค่การวัดไข้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องวัดค่าออกซิเจน และการเอกซเรย์ปอดที่เป็นการแยกอาการเพื่อดูแล เพราะแต่เดิมผู้ป่วยใช้เวลารอเตียงเพียง 2-3 วัน แต่ปัจจุบันต้องใช้ระยะเวลารอที่นาน

นอกจากนี้ ยังพบวา จากจำนวนผู้ป่วยโควิด 100 คน 80 คน เป็นกลุ่มสีเขียวที่อาการไม่รุนแรง และหายเอง ซึ่งต้องมีระบบรองรับที่ให้มั่นใจ โดยที่ไม่ต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล เพื่อเก็บกำลังบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยหนัก

พญ.นิตยา ภานุภาค
พญ.นิตยา ภานุภาค

จากการทำงานร่วมกับ โรงพยาบาลปิยะเวท ที่จับคู่กับ 23 ชุมชน เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียวในชุมชน พบว่า การเอกซเรย์ปอดเป็นสิ่งจำเป็นในกลุ่ม Community Isolation ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีไม่มาก โรงพยาบาลปิยะเวทจึงนำรถมารับผู้ป่วยเพื่อเอกซเรย์ที่ รพ. แทนการใช้รถเอกซเรย์

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช.ได้ออกแบบกลไกเบิกจ่าย เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งการจัดระบบ ดูแลที่บ้าน และ ดูแลในชุมชน โดยแยกรายการเบิกจ่ายที่ทำให้เกิดความสะดวก และไม่เป็นภาระโรงพยาบาลที่ต้องทำทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น เอกซเรย์ก็แยกจ่ายต่างหาก ในกรณีที่โรงพยาบาลไม่มีรถโมบายยูนิตเข้าไปบริการ ก็สามารถดึงเอกชนร่วมได้ แยกค่าอาหารผู้ป่วย 3 มื้อ เพื่อให้จับมือกับฟู๊ดเดลิเวอรี่ส่งอาหารผู้ป่วย โดยที่โรงพยาบาลไม่ต้องนำอาหารไปส่งเอง เป็นต้น เพื่อให้ โรงพยาบาลเน้นที่การรักษาดูแลผู้ป่วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในวันนี้ คือ โรงพยาบาลปิยะเวท ที่ได้วางแผนระบบบริการ ดูแลที่บ้าน และ ดูแลในชุมชน เป็นรูปธรรมแล้ว โดยเชื่อมต่อระบบกับชุมชน ซึ่งในโรงพยาบาลแพทย์และพยาบาล จะคอยดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ส่วนกลุ่มสีเขียว จะดูแลโดยชุมชน ขณะเดียวกัน ก็เริ่มคัดกรองผู้ป่วยที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลมาแล้ว 10 วัน เพื่อให้รับดูแลต่อเนื่องด้วยระบบใหม่นี้ และทำให้มีเตียงว่างเพิ่มขึ้น

“การสนับสนุนค่าบริการนี้ กองทุนบัตรทองไม่เป็นปัญหา เพียงแต่เราต้องใช้ทุกกลไกที่มี เพื่อทำให้มีระบบที่รองรับดูแลผู้ป่วยโควิด ในภาวะวิกฤตนี้ได้”นพ.จเด็จ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo