COVID-19

สภาเภสัชกรรม ร้องรัฐ ลดส่งออกแอสตร้าเซนเนก้า เร่งฉีดผู้สูงอายุ-7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง

สภาเภสัชกรรม ร่อนแถลงการณ์ เรียกร้องลดส่งออก แอสตร้าเซนเนก้า จากโรงงานผลิตในไทย ให้เหมาะกับใช้ในประเทศ พร้อมจี้ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง ให้โดยเร็ว

รศ. ดร. ภญ. จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์สภาเภสัชกรรม เรื่องวัคซีนโควิด ระบุว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการระบาดและการตายจากโควิดด้วยนโยบายที่ชัดเจน 2 ประเด็นใหญ่ที่สำคัญ

สภาเภสัชกรรม

1. ยุทธศาตร์การลดอัตราตาย เพื่อให้ระบบบริการสาธารณสุขรับมือได้

อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 วันละประมาณ 50-60 คน หรือ เดือนละประมาณ 1,500-1,800 คนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตที่มีการระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพและปริมณฑล และ ภาคใต้ มีจำนวนผู้ป่วยรอบริการจำนวนมาก

หากมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ในสองสามเดือนข้างหน้า จะเกินขีดความสามารถของระบบบริการที่จะรองรับได้ และมีผลกระทบต่อระบบบริการ และบุคลากรสุขภาพอย่างรุนแรง

โดยที่ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิต และ ป่วยหนักจากโควิด เป็น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี 7กลุ่มโรคเสี่ยงสูง ในกลุ่มนี้ เมื่อติดเชื้อแล้ว มีความเจ็บป่วยรุนแรง ต้องการระบบบริการที่ใช้บุคลากร และทรัพยากรจำนวนมากรองรับ และ ในกลุ่มนี้ มีอัตราตายถึงร้อยละ10 ในขณะที่กลุ่มอื่นที่เหลือ มีอัตราตายร้อยละ 1

การป้องกันความเจ็บป่วยที่รุนแรงหากติดเชื้อของกลุ่มนี้ โดยเร่งรัดให้ได้รับวัคซีน จึงมีลำดับความสำคัญเร่งด่วน

สภาฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล รีบประกาศนโยบายการกระจายวัคซีนที่มีอยู่ ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง และต้องเป็นมาตรการเดียวเท่านั้น จนทุกคนในกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (ขณะนี้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนเพียง 2 ล้านคนต่อประชากรที่มีอยู่ 17.5 ล้านคน)

สภาเภสัช

เนื่องจากประเทศไทย มีวัคซีนและระบบบริการสาธารณสุขที่จำกัด จึงขอให้หยุดใช้หลายยุทธศาตร์ในเวลาเดียวกัน ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรงงาน กลุ่มพื้นที่เพื่อเปิดการท่องเที่ยง โดยหวังให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ และการคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องใช้เวลานาน จนทำให้อัตราตายยังสูง จนระบบบริการสาธารณสุขล่มสลาย

2.ยุทธศาตร์การจัดหาวัคซีน

ต้องใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่ในการจัดหาโดยเร่งด่วน หนึ่งในมาตรการที่สำคัญ ที่ประเทศไทยทำได้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ แต่ต้องการความกล้าหาญทางนโยบาย ในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับที่ นพ.มงคล ณ สงขลา กล้าหาญที่จะประกาศ CL ยาช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อเอดส์

โดยการบังคับใช้ มาตรา 4 ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตามมาตรา ๑๘ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีอำนาจประกาศกำหนดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ซึ่งมาตรา 18(2) ระบุ “สัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ”

สภาฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออก ของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้แอสตร้าเซนเนก้า สยามไบโอไซส์ ลดสัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว ให้เหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo