COVID-19

อย่ากลัวเสียหน้า! หมอรามาฯ ยกเคส ลูกชายติดโควิด หลังฉีดซิโนแวค ต้านเดลตา ไม่ไหว

หมอรามาฯ ติดโควิดพร้อมลูกชาย หลังฉีดซิโนแวค สะท้อนซิโนแวค สู้เดลตาไม่ไหว แนะรัฐ อย่ากลัวเสียหน้า ถ้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้บุคลากรการแพทย์ เพราะถ้าแพทย์ป่วย ไม่มีคนดูแลผู้ป่วย

รศ.พญ.ประภาพร พิสิษฐ์กุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก “Prapaporn Pisitkun” กรณีทางการไม่อยากให้บุคลากรการแพทย์ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพราะกลัวเสียหน้าว่า ซิโนแวคไม่ดี ยกเคสตัวเอง ลูกชาย ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มยังติดโควิด เพราะสู้สายพันธุ์เดลตา ไม่ได้ โดยระบุว่า

หมอรามาฯ

“วันนี้เห็นข่าวการ ที่ไม่อยากให้บุคลากรการแพทย์ฉีดวัคซีนเข็มสาม เพราะกลัวเสียหน้าว่า Sinovac ไม่ดี ฟังดูแล้วรู้สึกว่า ถ้าแพทย์ส่วนใหญ่ใช้ตรรกะแบบนี้ดูแลผู้ป่วย อะไรจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นคือ

เวลามีผู้ป่วยติดเชื้อ แล้วแพทย์สั่งยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่ง แล้วเฝ้าดูอาการคนไข้ จะมีทางออกได้สองทาง คือ

1. คนไข้อาการดีขึ้น ผลเพาะเชื้อไวกับยาที่ให้ ให้ยาครบ หายกลับบ้าน

หรือ 2. คนไข้ไม่ดีขึ้น ผลออกมาเป็นเชื้อดื้อยา ตามหลักการคือ แพทย์จะเปลี่ยนยาที่ไวกับเชื้อ และสามารถฆ่าเชื้อได้ และติดตามอาการผู้ป่วย แพทย์จะติดตาม และเฝ้าระวังอาการเป็น real time ถ้ามีอาการผิดปกติอะไร ก็จะปรับเปลี่ยนการรักษาเพื่อช่วยชีวิตคนไข้

ในทางการแพทย์เราทราบกันดีว่าไม่มีอะไร 100 % เราตัดสินใจหน้างานให้ดีที่สุด ถ้าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ว่าควรจะรักษาอย่างไร แต่คนไข้แย่มาก ๆ อยู่ตรงหน้า เราคงต้องตัดสินใจทำอะไรให้ดีที่สุด แล้วติดตามอาการผู้ป่วย (ไม่มีข้อมูลว่าจะให้ยาอะไรจากงานวิจัย ก็ไม่ได้หมายความว่ารักษาไม่ได้ จริง ๆ แล้วเราควรทำวิจัยแล้วเก็บข้อมูล เพื่อจะได้มีข้อมูลซะที)

จริง ๆ แล้วถ้าใช้วิทยาศาสตร์อธิบาย จะไม่มีคำว่าเสียหน้า ค่ะ

22

วันนี้เลยจะมาเล่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของการติดเชื้อในครอบครัวของหมอ โดยพบว่า ลูกชายฉีด Sinovac ติดเชื้อ สามีหมอฉีด Astra ยังไม่ติดเชื้อ และไม่มีอาการ คุณปู่คุณย่า ฉีด Astra ยังไม่ติดเชื้อ ไม่มีอาการ

นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นครอบครัวของนักวิจัยระบบภูมิคุ้มกัน หมอจึงให้เจาะ Neutralizing antibody เช่นกัน และในวันเดียวกัน ที่หมอรับเชื้อแล้วผล Neutralizing antibody ของลูกชายอยู่ที่ 89% (Post 2nd dose of Sinovac 3 สัปดาห์) และตรวจ COVID เจอที่ Ct 30

Neutralizing antibody ของสามีหมออยู่ที่ 98.95% ค่ะ ตรวจไม่พบเชื้อมา 2 ครั้งและไม่มีอาการ

ข้อมูลนี้บอกอะไรเรา บอกว่าเราอาจต้องการ Neutralizing antibody ที่สูงมาก ๆ ถ้าใช้วัคซีนที่ใช้สายพันธุ์ Wuhan เป็นต้นแบบ เพื่อป้องกันสายพันธุ์ Delta Strain (อาจต้องมากกว่า 90% ถึงจะเอาสายพันธุ์ Delta อยู่หรือเปล่า)

ฟังดูน่าตกใจใช่ไหมคะ แต่ถ้าใช้วิทยาศาสตร์อธิบายก็จะเข้าใจได้ง่ายค่ะ

วัคซีน Sinovac รุ่นแรกทำจากสายพันธุ์ Wuhan ที่ระบาดเมื่อต้นปีที่แล้ว ดังนั้นก็สามารถป้องกันสายพันธุ์ Wuhan ได้ดี แต่การระบาดในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ Delta ซึ่งการกลายพันธุ์นี้ได้ล้ำหน้าไปมาก

สายพันธุ์นี้สามารถเข้าเซลล์ของมนุษย์ได้ดีมาก ๆ ดังนั้นจึงต้องการระดับ Neutralizing antibody ที่สูงมาก ๆ เพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์

11 2

ดังนั้นการใช้ Sinovac version 1.0 (original) นั้นจะไม่สามารถจัดการ delta mutant ตัวนี้ได้ดี (วงการคอมพิวเตอร์ถึงต้องมีหลาย software หรือมี upgraded version)

นอกเหนือจากชนิดของเชื้อตายที่นำมาทำ vaccine แล้ว ประเภทของวัคซีนที่แตกต่างกัน (ต่างเทคโนโลยี) ก็กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากน้อยต่างกัน (อันนี้จะเป็น immunology hardcore ไปหน่อย จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้)

สำหรับคำเรียกร้องจากบุคลากรด่านหน้าว่าให้ Boost เข็มสามให้นั้น ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่อย่างใด แต่เพื่อผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ด้วยค่ะ

การได้กักตัวหรือพักรักษาตัว 14 วัน โดยที่รู้ว่าติดเชื้อแต่เราไม่ตาย ถือว่าได้พักผ่อนจากงานที่ล้นตัวกันอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ไม่หยุดป่วยค่ะ ส่วนตัวนั้น การป่วยครั้งนี้ ทำให้ต้องเลื่อนนัดผู้ป่วยออกไป 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นจำนวนประมาณ 200 กว่าคน และต้องฝากงานอื่น ๆ กับอาจารย์แพทย์ และแพทย์ท่านอื่นด้วย

และวันนี้ก็เห็นข่าวโรงงานระเบิดเกิดขึ้น และทราบว่าแพทย์ที่สถาบันจักรีนฤบดินทร์ยุ่งมาก (เป็นทั้งศูนย์รับโควิดและยังต้องรับศึกของ mass casualty อีกค่ะ) แล้ว ICU หรือ Burn unit จะมีพอไหม

เราเข้าใจได้ว่า การฉีดวัคซีน ให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีความสำคัญ

แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีบุคลากรการแพทย์ดูแล อะไรจะเกิดขึ้น

สุดท้ายขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้อย่างท้วมท้นนะคะ หมอไม่นึกว่าจะมีคนแชร์โพสอันก่อนมากมายขนาดนี้

ตอนนี้อาการของหมอและลูกชาย ยังต้องติดตามดูในช่วงที่อาจเกิดข้อแทรกซ้อนได้ค่ะ ถ้าอาการหายแล้วจะมาเล่าให้ฟังกันว่าการฉีด Sinovac ได้ช่วยบรรเทาอาการของการติดเชื้อ COVID ของเราสองแม่ลูกอย่างไร (อย่างน้อยเราคงไม่ตายค่ะ)

สุดท้ายจริง ๆ คือ ไม่สามารถตอบคำถามที่ส่งเข้ามาได้หมดนะคะ แต่จะพยายามเขียนให้ความรู้ในเพจ ถึงประเด็นที่ถามมากันบ่อย ๆ เพื่อผู้อื่นจะได้ทราบด้วยค่ะ

ขอบคุณในความห่วงใยค่ะ

#หมอป่วยได้ #คนไข้ไม่หยุดป่วย #เราจะอยู่กันแบบไหน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo