COVID-19

วิกฤติโควิด ย่ำแย่หนัก หมอเตือน ยอดตายพุ่ง ถ้าไม่เปลี่ยนยุทธศาสตร์ จัดสรรวัคซีนใหม่

หมอแนะปรับยุทธศาสตร์ จัดสรรวัคซีนใหม่ ก่อนวิกฤติหนักข้อ ยอดตายพุ่ง ชี้เลิกปูพรม ต้องฉีดกลุ่มผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง ให้เสร็จภายใน 2 เดือน พร้อมศึกษาฉีดเข็ม 3 ฉีดไขว้ยี่ห้อ สู้กลายพันธุ์

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2564) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดเสวนาเรื่อง “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” โดย นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา และที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สธ. รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมเสวนา โดยมีข้อสรุปว่า ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ จัดสรรวัคซีนใหม่

จัดสรรวัคซีนใหม่

นพ.โสภณ กล่าวว่า การเสวนาวันนี้ เพื่อพูดถึงอนาคตโรคโควิด-19 ในอีก 3 เดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใส เอาข้อเท็จจริงมาคุย เน้นการแพทย์และสาธารณสุขนำหน้า เอาข้อมูลจริงๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและประเทศไทยมาพูด ต้องยอมรับว่าวัคซีนป้องกันไม่ได้ 100% แต่ยังช่วยเรื่องลดการเสียชีวิต การนอนไอซียู

“วันนี้ไอซียูเราเต็ม เสียชีวิตก็นิวไฮ แต่จากข้อมูลวัคซีนที่ไทยใช้อยู่ตอนนี้ ประสิทธิภาพยังลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต จึงเห็นตรงกันว่า ควรใช้วัคซีนให้ตรงกับประสิทธิภาพ คือ ฉีดในผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน เพื่อลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ลดใช้ไอซียู”

อย่างไรก็ตาม จากการที่คน 2 กลุ่มนี้มีประมาณ 16 ล้านคน กลับฉีดได้ครอบคลุมน้อยที่สุด โดยปัจจุบันฉีดแล้วประมาณ 2 ล้านกว่าคน ซึ่งภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ต้องฉีดให้ได้ 50% คือ 8 ล้านคน จึงต้องพยายามสื่อสารให้กลุ่มอายุอื่นเข้าใจด้วย เนื่องจากวัยหนุ่มสาวหากเจ็บป่วยอาการไม่รุนแรง

นพ.โสภณ
นพ.โสภณ เมฆธน

นอกจากนี้ แม้จะฉีดครบ 2 เข็ม ต้องเสริมด้วยการดูแลป้องกันตัวเอง อย่ารวมกลุ่มเดินทางจำนวนมาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก เข้มมาตรการองค์กร ทั้งแคมป์ก่อสร้าง โรงงาน ตลาดสด ต้องช่วยกันในระยะนี้

ส่วนการฉีดสลับ ยี่ห้อ ไขวัยี่ห้อ อยู่ระหว่างการศึกษา โดยหวังว่าภูมิต้านทาน จะสูงสู้สายพันธุ์เดลตาได้ ก็อาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการฉีด

ด้าน นพ.คำนวณ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ที่เลือกว่าจะเปิดประเทศได้ หรือวิกฤติถลำลึกลงไปอีก อยากเสนอข้อเท็จจริง คือ ระลอก 3 ส่วนใหญ่มาจากสายพันธุ์อัลฟา ติดต่อรวดเร็ว เราตั้งตัวไม่ทัน มีคนไข้เสียชีวิตหลัก 50 ราย

ดังนั้น คำถามคือ เดือนต่อ ๆ ไป จะเป็นอย่างไร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดลงความเห็นตรงกันว่า สถานการณ์จะแย่กว่าเดิม เพราะสายพันธุ์เดลตา เข้ามายึดครองตลาด

ทั้งนี้ ข้อมูลของ กทม. พบเดลตา 40% แล้ว เดือนนี้หรือเดือนหน้าจะเป็นเดลตาทั้งหมด ซึ่งติดต่อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 1.4 เท่า ถ้า มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตทั้งเดือน 992 คน แปลว่า เดือนถัดไป จะเสียชีวิตเพิ่ม คือ กรกฎาคม เสียชีวิต 1,400 คน สิงหาคม เพิ่มเป็น 2,000 คน และ กันยายน เพิ่มเป็น 2,800 คน ทำให้ระบบเดินต่อไม่ได้ เราไปไม่รอด

จัดสรรวัคซีนใหม่

จากการที่ผู้เสียชีวิต 80% คือ ผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว จึงต้องปกป้องคนกลุ่มนี้ จะลดการตายลงได้มาก เพราะคนสูงอายุติดเชื้อเสียชีวิต 10% แต่อายุน้อย 20-40 ปี ติดเชื้อ 1,000 คนอาจตายแค่คนเดียว

ขณะที่ การใช้วัคซีนที่มี 2 แบบ คือ ลดเจ็บหนักและตายก่อน ซึ่งวัคซีนทุกตัว ที่องค์การอนามัยโลก ขึ้นทะเบียน ลดเจ็บป่วยรุนแรงและตายได้ 90% และการฉีดแบบปูพรมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนแรกบอกว่า ฉีดให้ได้วัคซีน 70% ของประชากร เพื่อลดติดเชื้อและตาย แต่ตอนหลัง นักวิชาการบอกว่า ไม่น่าได้ ในอังกฤษคนติดเชื้อเริ่มเยอะขึ้น การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อาจต้องไปถึง 90% และใช้วัคซีนที่ดีมาก ๆ

จัดสรรวัคซีนใหม่ เลิกปูพรม เน้นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุก่อน

ในส่วนของ ประเทศไทย ใช้ 2 ขั้นตอน คือ มุ่งเป้าฉีดคนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงให้จบใน กรกฎาคม-สิงหาคม แต่จากความต้องการวัคซีนที่สูงมาก ทั้งในโรงงาน ควบคุมการระบาดในชุมชน เปิดโรงเรียน เปิดแหล่งท่องเที่ยว จึงนำวัคซีนไปฉีด แต่ปัจจุบันยังมีวัคซีนจำกัด

“ทุกประเทศยอมรับหมดว่า ไม่มีประเทศไหนที่จะมีวัคซีนไม่จำกัด แม้แต่อเมริกา ยุโรปที่ผลิตวัคซีนเอง ก็ยอมรับว่าไม่มีวัคซีนพอที่จะสร้างยุทธศาสตร์ฉีดปูพรม จังหวะแรกเขาก็ใช้ลดการป่วยตายก่อน”นพ.คำนวณ กล่าว

นพ
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์

หากประเทศไทยฉีดแบบปูพรมเดือนละ 10 ล้านโดส คนสูงอายุได้แค่ 10% อาจต้องใช้เวลา 7-8 เดือน กว่าจะป้องกันคนสูงอายุได้ จะไม่ทันวิกฤติเตียง จึงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์เอาวัคซีนทั้งหมดในมือ ทำความตกลงกันทั้งสังคม ตั้งแต่นายกฯ ศบค. รัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด

สำหรับการปรับยุทธศาสตร์ใหม่คือ เน้นฉีดคนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อนให้จบใน 2 เดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งเชื่อว่ามีวัคซีนเพียงพอจะลดการตาย เดือนสิงหาคม จะลงมาเหลือ 800 คน ส่วน กันยายน เหลือ 600-700 คน วันหนึ่งประมาณ 20 คน อยู่ในวิสัยที่ระบบเดินหน้าได้

“ถ้ายังฉีดแบบเดิม จะเจอปัญหามาก ตอนนี้เราปิดกิจการ ปิดแคมป์ต่าง ๆ แต่คนป่วยเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องปิดมากขึ้นอีก ก็ไม่เป็นผลดี เศรษฐกิจเดินหน้าไม่ได้ แต่แบบหลังอาจไม่ต้องปิดมากขึ้น ผ่อนคลายได้ แต่ถ้าต้องการลดลงไปอีก ต้องทำมาตรการเรื่องเตียง ค้นหาคนป่วยให้เร็ว ดูแลกลุ่มเสี่ยงและสูงอายุ ก็จะลดลงไปอีก”นพ.คำนวณ กล่าว

ดังนั้น จึงสรุปว่า หากเลือกฉีดแบบปูพรมหลายจุดมุ่งหมาย จำนวนผู้ป่วยจะเกินและรับไม่ไหว แต่หากปรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนและกระจายวัคซีน เน้นกลุ่มคนสูงอายุ คนมีโรคประจำตัวก่อน ทางวิชาการพิสูจน์แล้ว ในอังกฤษ อเมริกาทำแบบนี้ แม้มีคนติดเชื้อ แต่มีคนตายไม่เยอะ” นพ.คำนวณกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo