COVID-19

สธ.เผยข่าวดี 57 จังหวัด ควบคุมโรคได้ดี ถ้ารักษาระดับได้ คาดตัวเลขลดลงแน่ปลายเดือนนี้

57 จังหวัด ควบคุมโรคได้ดี สธ.มั่นใจถ้ารักษาสถานการณ์นี้ได้ คาดจำนวนผู้ป่วยลดลงเห็นชัดเจน ปลายเดือนมกราคมนี้ เตือนระวังแพร่เชื้อในที่ทำงานเพิ่ม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัส โควิด-19 ประจำวันที่ 8 มกราคม 2564 ว่า แม้ยังพบจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สดลง โดยใน 57 จังหวัด ควบคุมโรคได้ดี ติดตามผู้สัมผัสได้เร็ว และความร่วมมือของประชาชนตามมาตรการระวังป้องกัน หากยังสามารถทำได้ต่อเนื่อง ปลายเดือนมกราคมนี้ คาดเห็นตัวเลขผู้ป่วย ที่ลดลงอย่างชัดเจน

57 จังหวัด ควบคุมโรคได้ดี

นอกจากนี้ ยังได้พระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ที่ทรงพระราชทานรถชีวนิรภัย เพื่อเก็บตัวอย่าง ตรวจเชิงรุก จำนวน 13 คัน เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2563 และพระราชทานเพิ่มอีก 7 คัน ในช่วงการระบาดระลอกใหม่ รวมเป็น 20 คัน ทำให้จนถึงปัจจุบัน สามารถตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ได้แล้วกว่า 60,000 ราย ทั่วประเทศ

สำหรับสถานการณ์ในวันนี้ พบผู้ป่วยใหม่ 205 ราย แบ่งเป็น  ผู้ป่วยในประเทศ 131 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 58 ราย ต่างประเทศ 16 ราย ซึ่งแม้ตัวเลขจะลดลง ก็ยังคงประมาทไม่ได้ และยังต้องค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยต่อไป

นับจากการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 63 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ป่วย 5,604 ราย เป็นผู้ป่วยในจังหวัดสมุทรสาครมากที่สุดเกินครึ่ง อยู่ที่ 2,981 ราย ตามด้วย ภาคตะวันออก 1,597 ราย กรุงเทพ 519 ราย ภาคกลางอื่นๆ 221 ราย ภาคอื่นๆ 140 ราย ภาคตะวันตก 146 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย

นพ.โอภาส
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง ต้นตอการแพร่ระบาดว่า กรณีโรงงานบางขุนเทียน ติดต่อจากแรงงานพม่า ที่ไปงานแต่งงาน แล้วนำเชื้อมาติดคนในโรงงานรวม 17 ราย

กรณีผู่ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงปิ่นเกล้า 121 ราย, การระบาดเชื่อมโยงสนามชนไก่ อ่างทอง ยอดสะสม 101 ราย

นอกจากนี้ ยังพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรคในสถานที่ทำงาน เช่น พนักงานธนาคาร ไปสมุทรสาคร แล้วติดเชื้อแพร่ไปยังเพื่อนพนักงาน จากการสังสรรค์ และในสถานที่ทำงาน ดังนั้น แนะนำว่า ต้องระมัดระวัง และเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดในสถานที่ทำงาน เน้นการตรวจคัดกรอง สังเกตอาการเจ็บป่วยของพนักงาน เพื่อสกัดไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดต่อ

รถ

ขณะที่ นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำรวญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ว่า ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน เข้าใจถึงความจำเป็นของ  โรงพยาบาลสนาม และยืนยันได้ถึงมาตรการความปลอดภัยในชุมชน เนื่องจากการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีมาตรการป้องกันที่ดี

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด เพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลสนาม จะทำหน้าที่รองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อ รักษาหาย และกลับบ้านได้ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลหลัก พร้อมทั้งยืนยันว่า มีการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน การตั้งโรงพยาบาลสนาม จะเน้นในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมาก โดยในจังหวัดสมุทรสาคร มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแล้วรวม 872 เตียง และสามจังหวัดภาคตะวันออก 444 เตียง รวมทั้งสิ้น 1,316 เตียง

รพ.สนามสมุทรสาคร

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขคือ ต้องมีเตียงสนามสำรองไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 เตียงต่อเขตสุขภาพที่มีการระบาดมาก พร้อมทั้งยืนยันว่า ในโรงพยาบาลหลักยังมีเตียงเพียงพอ และไม่แออัด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo