COVID-19

ทำไมต้องวัคซีน ‘แอสตราเซเนกา’ ที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกให้คนไทย?

รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ประกาศความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 หลังจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกรายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน และเป็นความหวังเดียวที่จะป้องกันการแพร่ระบาด แต่คำถามคือทำไมต้องเป็นวัคซีนโควิด-19 ของ “แอสตราเซเนกา”(AstraZeneca)

วัคซีนของแอสตราเซเนกา เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับบริษัทแอสตราเซเนกาตามชื่อวัคซีน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนรายล่าสุดที่รายงานผลความสำเร็จ และกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ประสานไปตั้งแต่เริ่มการพัฒนาแรก ๆ

แต่ทำไมต้องวัคซีน “แอสตราเซเนกา”? ทั้งๆที่ หลังจากการรายงานผลการทดลอง มีบรรดานักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยผลการทดลอง แต่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่า “ธุรกิจยา”ของสหรัฐ มีมูลค่ามหาศาลและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเป็นอันดับแรก ๆ เหนือกว่าเหตุผลด้านสาธารณสุข

แต่ “แอสตราเซเนกา” ประกาศชัดตั้งแต่ต้นว่าจะจัดหาวัคซีนอย่างทั่วถึงทั่วโลก ในราคาที่เป็นธรรม ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจมากกว่าบริษัทยาอื่น ๆ ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านั้น ยกเว้นประเทศร่ำรวย โดยล่าสุดมีหลายประเทศทั่วโลกจองซื้อกว่า 3 พันล้านโดส

สำหรับผลการทดลองในมนุษย์ของ “แอสตราเซเนกา” ในระยะ 3 ระบุว่า การฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวนครึ่งโดส ครั้งที่ 2 จำนวน 1 โดส มีประสิทธิผล 90% ขณะที่การฉีด 2 ครั้ง ครั้งละโดสมีประสิทธิผล 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก(WHO) รวมถึงของสหรัฐ กำหนดไว้ที่เกินกว่า 50% เปอร์เซ็นต์

การจองซื้อของกรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ 26 ล้านโดสจากบริษัท แอสตราเซนเนกา จำกัด นอกจากจะทำให้คนไทยมีวัคซีนโควิด-19 เร็วขึ้น ยังมีเงื่อนไขตั้งแต่ต้นว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะเริ่มผลิตออกมาใช้ในประเทศได้ในกลางปี 2564

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ลงนามร่วมกับแอสตราเซนเนกา เนื่องจากการจัดเก็บวัคซีนใช้อุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส ไม่แตกต่างจากวัคซีนชนิดอื่น ทำให้สามารถจัดเก็บได้สะดวก บุคลากรมีความชำนาญ การผลิตในไทยช่วยประหยัดค่าขนส่งได้กว่าร้อยล้านบาท

ส่วนกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563

“หลักๆ จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นกลุ่มที่หากติดเชื้อจะกระทบระบบสาธารณสุขจะไม่มีผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีความเสี่ยงอาการรุนแรงสูง หรือมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง”

นอกจากนี้ จะพิจารณาจากกำลังการผลิตในแต่ละเดือนเพื่อวางระบบการขนส่งให้เหมาะสม ซึ่งตามสัญญาความร่วมมือประเทศไทยจะผลิตเพื่อนำไปใช้ดูแลในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะอนุญาตในการส่งออก

สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนหากมีการฉีดจำนวนเป็นล้านโดสควรใช้สถานที่ใด มองว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีศักยภาพในการให้บริการ โดยต้องเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บและให้ความรู้ประชาชนในการฉีดวัคซีน

จากการเร่งพัฒนาวัคซีนจากบริษัทยาหลายแห่ง นอกจาก “แอสตราเซเนกา” แล้ว ทำให้ในปีหน้าจะมีความหวังมากขึ้นว่าจะมีวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพออกมาใช้ทั่วโลก 

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

‘บิ๊กตู่’ ดีใจคนไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 อันดับแรกๆ ของโลก

‘นายกรัฐมนตรี’ ลงนามสัญญาการจัดหา ‘วัคซีนโควิด’ แล้ว

ข่าวดี! วัคซีนโควิด-19 คืบหน้า คนไทยได้ใช้แน่ กลางปีหน้า ทดลองสำเร็จแล้ว 90%

Avatar photo