COVID-19

เร่งสังเคราะห์ ข้อมูล ‘ฆ่าตัวตาย’ ช่วงโควิด-19 ระบาด หาสาเหตุแท้จริง

เร่งเก็บข้อมูล หาสาเหตุแท้จริง “ฆ่าตัวตาย” ช่วงโควิด-19 ระบาด 2 สัปดาห์รู้ผล กรมสุขภาพจิต ชี้ต้นเหตุหลักฆ่าตัวตาย 3 อันดับ ปัญหาความสัมพันธ์-สุรา-โรคกาย/จิตเวช คลอดหลักสูตรออนไลน์ ตั้งสติ 8 วัน  สร้างสมดุลชีวิต-ลดเครียด   

ข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ย้อนปี 2562 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ เท่ากับ 6.64 ต่อแสนประชากรต่อปี มากกว่าการประมาณการทั่วไปเล็กน้อย ขณะที่ค่าเฉลี่ย 10 ปีก่อนหน้านี้ จะอยู่ในช่วงระหว่าง 6- 6.5 ต่อแสนประชากรต่อปี การสูงขึ้นของตัวเลขนี้ของช่วงปีที่แล้วก่อนที่ภาวะโควิดจะระบาด

worried girl 413690 640 1

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ระบุว่า ส่วนตัวเลขในขณะนี้หลังเกิดโควิด-19 มีสาเหตุที่ไม่แน่ชัด แต่มีทิศทางเดียวกับตัวเลขการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ที่สูงขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก ที่ได้ประกาศมาในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เช่น ประเทศอังกฤษ อยู่ที่ 11.4 ต่อแสนประชากร สูงสุดในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา และสหรัฐ ที่ตัวเลขสูงขึ้นทุกปี 13 ปีติดต่อกัน  อย่างไรก็ตาม จะมีการศึกษาสาเหตุการฆ่าตัวตายในช่วงการระบาดของโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้

ทางด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิต จากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปี 2561-2562 พบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น มีความสลับซับซ้อน 

โดยปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วม ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาเป็น การใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวช และปัญหาเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2563 นั้น คาดการณ์ว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตาย ในไทยอาจสูงมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปี ตามกลไกทางจิตวิทยาสังคม ที่อยู่ในภาวะวิกฤติ

และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ จะมีบทบาทมากขึ้นและอัตราส่วนที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว โดยกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ เช่น การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ความน้อยใจ ความหึงหวง มักเป็นปัจจัยที่พบร่วมด้วยมากที่สุด

อย่างไรก็ตามกรมสุขภาพจิต เปิดตัวโปรแกรม “หลักสูตรเรียนรู้ด้วยตัวเอง” ระยะสั้น 8 วัน มุ่งเน้นความรู้ความเข้าใจ และฝึกทักษะที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจในการดูแลตนเอง ป้องกันการฆ่าตัวตาย พัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านสื่อ Online Learning ทั้งในระบบ Audio และระบบ Motiongraphics

นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เล่าว่า รูปแบบกิจกรรม เป็นการอธิบายและแนะนำวิธีการฝึกปฏิบัติ สามารถฝึกตามได้ มีทั้งหมด 8 ครั้ง (8 วัน) วันละ 20-30 นาที หลังจากนั้นควรฝึกทุกวัน เพื่อให้เป็นวิถีชีวิต ทั้งการฝึกสมาธิ ฝึกสติในการทำกิจต่างๆ ฝึกสติในจิตให้ปล่อยวางความคิด และความรู้สึกลบ สติสื่อสาร สติเมตตา และให้อภัย

เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงทำเป็นสื่อ Online Learning ทั้งในระบบ Audio และระบบ Motion graphics ร่วมไปกับการดำเนินชีวิต อย่างมีสติทั้งในการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล และการใช้ชีวิตให้มีระยะห่าง โดยเหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1.กลุ่มคนที่สงสัยว่าติดเชื้อ ต้องกักกันตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน

2. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการไม่รุนแรง ที่กักตัวเอง 14 วัน

3. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ยังทำกิจกรรมต่างๆได้

4. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรงมาก ที่รักษาตัวในห้อง ไอซียู เมื่อพ้นจากอาการรุนแรงยังต้องฟื้นฟูอยู่ในโรงพยาบาล

5. เจ้าหน้าที่ที่มีความเครียดจากภาระงาน และความเสี่ยงที่เพิ่มอย่างมาก

6. ประชาชนทั่วไปที่สนใจ

meditate 1851165 640

สำหรับลักษณะเนื้อหาของโปรแกรมการดูแลจิตใจในวิกฤตโควิด-19 นี้ ประกอบด้วย

วันที่ 1 (ฝึกสมาธิใช้การรับรู้ลมหายใจ) เพื่อหยุดความคิด ช่วยลดความว้าวุ่นใจ

วันที่ 2 (ฝึกสติพื้นฐาน) ใช้การรับรู้ลมหายใจ ไว้เล็กน้อย และรับรู้สิ่งที่กำลังทำ เพื่อช่วยให้ทำกิจต่างๆโดยไม่รับและแพร่เชื้อโควิด-19

วันที่ 3 (สติในการกิน) มีสติในการกิน ช่วยดูแลสุขภาพได้ดี และปลอดภัยจากโรค

วันที่ 4 (สติควบคุมอารมณ์) มีสติรับรู้อารมณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอารมณ์ลบ และช่วยจัดการกับอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น

วันที่ 5 (สติใคร่ครวญ) สติในการรู้เท่าทันความคิด และใคร่ครวญ เราได้อะไรจากวิกฤติ เปลี่ยนความคิดลบเป็นความคิดบวก

วันที่ 6 (สติสื่อสาร) มีสติในการฟัง และ พูด ช่วยให้สื่อใจถึงใจกับคนใกล้ชิด

วันที่ 7 (สติเมตตาให้อภัย) ใช้ใจที่สงบ เผื่อแผ่ความรักความปรารถนาดี ให้กับตนเองและผู้อื่น ช่วยให้ใจเปิดกว้าง แม้ในยามวิกฤติ

วันที่ 8 (สติเป็นวิถี) แนะนำการฝึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ และเป็นพลังใจให้ผู้อื่น

ประโยชน์ที่จะได้รับ คือ การปรับตัวและจิตใจให้อยู่ในระดับสมดุล ลดความเครียดความวิตกกังวล สามารถทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างปกติด้วยสติ ช่วยป้องกันการรับเชื้อโรคและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสู่ผู้อื่นในวงกว้างต่อไป

โดยช่องทางการเข้าใช้งานโปรแกรม ได้แก่ Website กรมสุขภาพจิต https://www.dmh.go.th/covid19/ และ Website ห้องสมุดกรมสุขภาพจิต https://www.thaidmh-elibrary.org/videocovid19 รวมไปถึงช่องทาง YouTube และ Facebook ของกรมสุขภาพจิต ได้อีกด้วย

หากรู้สึกหมดพลัง เครียดไปต่อไม่ไหวอย่าเก็บไว้คนเดียว ขอให้หาคนปรึกษา หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323

Avatar photo