COVID-19

ข่าวดี!! 95% ของโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกยังเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย JN.1

ศูนย์จีโนมฯ บอกข่าวดี 95% ของโควิด-19 ที่ระบาดหมุนเวียนทั่วโลกขณะนี้ ยังเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยกลุ่ม JN.1 แต่ยังต้องจับตาการกลายพันธุ์ใหม่

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  เรื่อง ข่าวดี 95% ของโควิด-19 ที่ระบาดหมุนเวียนทั่วโลกขณะนี้เป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยกลุ่ม JN.1 โดยระบุว่า

โควิด-19

จากรายงานสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 พบว่าจากการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด ที่รวบรวมได้ทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยกลุ่ม JN.1 รวมถึงสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างกลุ่ม JN.1 และกลุ่ม XBB คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 95% โดยผู้ติดเชื้อโอไมครอนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม พบว่าโอไมครอนกลุ่ม JN.1 เริ่มมีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงโปรตีนส่วนหนามเพิ่มเติมอีก 3 ตำแหน่งคือ R346T, F456L และ T572I ซึ่งอาจทำให้มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถประเมินความรุนแรงของการติดเชื้อได้

โควิด1

ขณะนี้พบการกลายพันธุ์ทั้ง 3 ตำแหน่งในโอไมครอน JN.1 ประมาณ 281 รายทั่วโลก และคาดว่าจะพบเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไป

โอไมครอน JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์ R346T, F456L และ T572I มีความได้เปรียบในการแพร่ระบาดสูงกว่าโอไมครอน JN.1 ปกติถึง 20-35% ต่อสัปดาห์ การกลายพันธุ์เหล่านี้อาจทำให้ไวรัสแพร่กระจายง่ายขึ้นและหลบหลีกภูมิคุ้มกันบางส่วนได้ รวมถึงอาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่ต่างกัน ส่งผลให้โอไมครอน JN.1 สายพันธุ์ย่อยต่างๆ มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันได้

ปัจจุบันยังไม่เห็นโอไมครอนตระกูลอื่นที่จะสามารถแข่งขันกับตระกูล BA.2.86 ซึ่งเป็นต้นตระกูลของโอไมครอน JN.1 ได้ จึงคาดว่าในอีกหลายเดือนข้างหน้าโอไมครอนกลุ่ม JN.1 จะยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้คลายกังวลเรื่องความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลงได้ แต่หากเกิดการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดดสถานการณ์ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้

โควิด2

แม้จะพบอัตราการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของโอไมครอนที่มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่ง (R346T, F456L และ T572I) ในทุกสัปดาห์ แต่คาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 เดือนกว่าที่โอไมครอนกลุ่มนี้จะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก เนื่องจากปัจจุบันยังพบได้น้อยมากเพียง 281 รายจากการสุ่มตรวจทั่วโลก และยังไม่พบในหลายประเทศรวมถึงไทย

โดยสรุป โอไมครอนกลุ่ม JN.1 น่าจะยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในอีกหลายเดือนข้างหน้า แต่ต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ย่อยที่สำคัญ เช่น R346T, F456L และ T572I รวมถึงการเกิดสายพันธุ์ใหม่แบบก้าวกระโดด เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงและวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo