COVID-19

ผู้เชี่ยวชาญชี้ รุ่นลูก ‘โอไมครอน JN.1’ อาจแพร่ระบาดทั่วโลก หากกลายพันธุ์เพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ รุ่นลูก “โอไมครอน JN.1” อาจระบาดทั่วโลก หากเกิดการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนาม เพิ่มขึ้นอีกเพียงหนึ่งตำแหน่ง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  ระบุข้อมูล อะไรจะเกิดขึ้นหากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย  JN.1 (รุ่นลูกของ BA.2.86) เกิดการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนาม เพิ่มขึ้นอีกเพียงหนึ่งตำแหน่ง

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังติดตาม BA.2.86 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของโอไมครอนระหว่าง “BA.2” และ “XBB”  สายพันธุ์ย่อยนี้ได้รับความสนใจเนื่องจากมีการกลายพันธุ์จำนวนมากซึ่งเกินกว่า 30 ตำแหน่งบนโปรตีนหนาม

จำนวนการกลายพันธุ์ที่มากมายบนโปรตีนหนามนี้ คล้ายคลึงกับการก้าวกระโดดที่พบในสายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในอดีต ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพในการแพร่เชื้อ การดื้อต่อวัคซีน ยา  และแอนติบอดีสำเร็จรูป  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูก หลานของ BA.2.86 ซึ่งยังมีการกลายพันธุ์ไปอย่างต่อเนื่อง  เช่น โอไมครอน JN.1, JN.2, JN.3 ฯลฯ

โอไมครอน JN.1

โอไมครอน BA.2.86 กลายพันธุ์ต่อเนื่อง อาจเกิดเจ็บป่วยรุนแรง

แม้ว่า WHO ยังมิได้จัดให้โอไมครอน BA.2.86 เป็น Variant of Concern (VOC) แต่โปรไฟล์ทางพันธุกรรมที่ไม่เหมือนโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งชื่อ BA.2.86 อย่างไม่เป็นทางการว่า “Pirola” ซึ่งมาจากอักษรกรีก “Pi” รวมกับ “Rho” ที่เป็นสองอักษรกรีกที่ถัดจาก “โอไมครอน”

หลายฝ่ายเริ่มคลายกังวลเมื่อไม่พบข้อมูลทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าการติดเชื้อโอไมครอน BA.2.86 และ EG.5.1  จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรง และดูเหมือนว่าทั้งสองสายพันธุ์ย่อยจะยังไม่สามารถแข่งขันกับโอไมครอนกลุ่มย่อย XBB* ที่เป็นสายพันธุ์หลักอยู่ในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มของ “FLip” ที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว “L455F + F456L”   เช่น โอไมครอน HK.3

กลุ่มโอไมครอนกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว “L455F + F456L” พบแล้วทั่วโลก (จากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID”  ณ. เดือนพฤศจิกายน 2566) จำนวน 34,301 ราย และพบในประเทศไทย 42 ราย

ที่น่าสังเกตคือโอไมครอนสายพันธุ์ล่าสุดไม่ว่าจะเป็น XBB->EG.5.1->HV.1 หรือ BA.2->BA.2.86->JN.1,JN.2,JN.3 ล้วนมีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์ในลักษณะของกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (L455F + F456L) ด้วยกันทั้งสิ้น

โอไมครอน JN.1

การกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว เป็นการวิวัฒนาการ “แบบเบนเข้า” หรือ “วิวัฒนาการเชิงบรรจบ (convergent evolution)” ที่ธรรมชาติกำหนดให้กับสิ่งมีชีวิต รวมถึงไวรัส ที่แม้ไวรัสจากต่างสายพันธุ์เช่น EG.5.1  และ BA.2.86  กลับมีวิวัฒนาการในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือพยายามมีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกัน(double mutation) คือ L455F และ F456L เหมือนกัน เนื่องจากไวรัสทั้งสองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกกดดันด้วยภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และการติดเชื้อตามธรรมชาติในลักษณะเดียวกัน

โอไมครอน “HV.1 (XBB.1.9.2.5.1.6.1)”  สืบเชื้อสายมาจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย  XBB.1.9.2 โดยเป็นทายาทรุ่นลูกของโอไมครอน EG.5 พบการกลายพันธุ์ที่ส่วนหนามบริเวณ “F456L” ก่อให้เกิดการระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ โดยคิดเป็น 25.2%  ของสายพันธุ์ที่ระบาดหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกา (พฤศจิกายน 2566)

 

 

โอไมครอน JN.1 ลูก BA.2.86 อาจระบาดทั่วโลก หากกลายพันธุ์เพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา นักวิจัยได้ตรวจพบรุ่นลูกของโอไมครอน BA.2.86 ในยุโรปที่มีการกลายพันธุ์สะสมเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นพร้อมไปกับการจับกับผิวเซลล์ได้อย่างมั่นคงขึ้น โดยมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง “L455S” เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ถูกตั้งชื่อว่า “JN.1”  พบระบาดมากในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส  ยังไม่พบในประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า “รุ่นลูกของโอไมครอน JN.1” อาจเกิดการแพร่ระบาดกลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกได้ในอนาคต “หากมีการกลายพันธุ์ ณ. ตำแหน่ง “F456L” เพิ่มเติมอีกเพียงหนึ่งตำแหน่ง”

โอไมครอน JN.1

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี กำลังติดตามโอมิครอน JN.1 และลูกหลานอย่างใกล้ชิด ขณะนี้พบโอไมครอน BA.2.86 และลูกหลาน (ในฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส) ระบาดทั่วโลกไปแล้วจำนวนกว่า 2,309 ตัวอย่างจาก 39 ประเทศ  กล่าวคือ

ประเทศไทย จำนวน 2 ราย คิดเป็น 0.094% ของสายพันธุ์ที่ระบาดในไทย

อังกฤษ 498 ราย 2.027% , ฝรั่งเศส 314 ราย 1.607% , สวีเดน 234 ราย 3.486% , เดนมาร์ก 182 ราย 4.919% , สเปน 168 ราย 0.945% , แคนาดา 150 ราย 0.425% , สหรัฐ 135 ราย 0.119% , เนเธอร์แลนด์ 64 ราย 2.070% , ญี่ปุ่น 59 ราย 0.198% , แอฟริกาใต้ 55 ราย 8.871% , เบลเยียม 45 ราย 1.503% , ออสเตรเลีย 44 ราย 0.309% , เยอรมนี 41 ราย 1.391% , สิงคโปร์ 38 ราย 0.522% , ไอร์แลนด์ 34 ราย 1.339% , เกาหลีใต้ 31 ราย 0.106% , สวิตเซอร์แลนด์ 31 ราย 1.839% , อิสราเอล 30 ราย 0.900%

โปรตุเกส 27 ราย 1.583% , อิตาลี 24 ราย 0.394% , ฟินแลนด์ 21 ราย 0.986% , ไอซ์แลนด์ 18 ราย 2.922% , ออสเตรีย 15 ราย 0.514% , ลักเซมเบิร์ก 8 ราย 0.643% , นิวซีแลนด์ 7 ราย 0.161% , โครเอเชีย 5 ราย 0.452% , กรีซ 5 ราย 0.311% , นอร์เวย์ 5 ราย 0.923% , จีน 4 ราย 0.016% , สโลวีเนีย 4 ราย 0.354% , โปแลนด์ 3 ราย 0.676% , บัลแกเรีย 2 ราย 0.707% , บอตสวานา 1 ราย 3.448% , บราซิล 1 ราย 0.025% , ฮ่องกง 1 ราย 0.215% , มาเลเซีย 1 ราย 0.059% , ไต้หวัน 1 ราย 0.112% , ยูเครน 1 ราย 0.100%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo