“ดร.อนันต์” เผยเคสโควิดติดในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง นานสุดมากกว่า 1 ปี 4 เดือน และมีโอกาสพบการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากกว่าผู้ติดโควิดทั่วไป
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana กรณีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลายเป็นแหล่งกำเนิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยระบุว่า
มีเคสโควิดที่ติดในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่คิดว่าน่าจะนานที่สุดเท่าที่มีตีพิมพ์มาคือ 486 วัน หรือ มากกว่า 1 ปี 4 เดือน โดยไวรัสไม่สามารถถูกเคลียร์ออกจากร่างกายผู้ป่วยได้จากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเอง
นอกจากนี้ ด้วยการรักษาด้วยยาชนิดต่าง ๆ ตลอดจนการใช้แอนติบอดีรักษา ในช่วงระยะเวลาที่ไวรัสอยู่ในร่างกายผู้ป่วย ปริมาณไวรัสพบสูงขึ้น และลดลง เป็นช่วง ๆ
โดยช่วงที่ไวรัสในร่างกายสูง (Ct ต่ำ) ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ตลอดช่วงเวลา 486 วันที่ไวรัสอยู่ในร่างกาย ผู้ป่วยมีไข้อยู่เป็น ๆ หาย ๆ ออกซิเจนต่ำ หายใจไม่สะดวก
ไวรัสในร่างกายของผู้ป่วยติดมาตั้งแต่ช่วงก่อนโอไมครอน (B.1.2) พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญตามที่การศึกษานี้ระบุไว้คือ E484T
ทั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้พบในธรรมชาติ และเป็นตำแหน่งหนีภูมิที่สำคัญ ซึ่งไวรัสตัวนี้หนีแอนติบอดีรักษา Bamlanivimab ที่ใช้งานได้ดีมาก ๆ กับไวรัสสายพันธุ์ก่อนโอมิไมครอน
กลุ่มผู้ป่วยโควิดที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มที่เปราะบางและเชื่อว่าสามารถเป็นแหล่งกำเนิดของไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นที่ไวรัสอยู่ในร่างกายไม่นานและมีโอกาสเปลี่ยนแปลงน้อย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ดร.อนันต์’ ตอบคำถามคาใจ ฉีดวัคซีนโควิดครั้งต่อไปตอนไหน ติดแล้วควรฉีดอีกครั้งเมื่อไหร่
- “ดร.อนันต์” ห่วงผู้ป่วยฝีดาษลิงพุ่ง เตือนติดเชื้อได้หลายช่องทาง เป็นแล้วเป็นอีกได้
- มาแล้ว!!เงินค่าเสี่ยงภัยโควิด 2,995.7 ล้าน สธ.เร่งจ่ายเสร็จภายใน ก.ย.นี้