COVID-19

รวมเรื่องต้องรู้ สายพันธุ์ XBB.1.16 ‘หมอเฉลิมชัย’ แนะยกระดับวินัยป้องกันตัวเอง รับมือได้

“หมอเฉลิมชัย” รวม 17 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 ที่ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในไทยแล้ว 27 ราย ชี้มีวินัยป้องกันตัวเอง รับมือได้แน่

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 โดยระบุว่า

สายพันธุ์ XBB.1.16

กระทรวงสาธารณสุข โดยรองอธิบดีทั้งสาม คือกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเลขาธิการแพทยสภา ได้จัดแถลงสถานการณ์โควิดล่าสุด เนื่องจากผลกระทบจากข่าวของ XBB.1.16

1. องค์การอนามัยโลก ได้ติดตามสายพันธุ์ของไวรัสในระดับ VOI : Variant of Interest คือสายพันธุ์ XBB.1.5 และติดตามในระดับรองลงมาคือ VUM: Variant under Monitoring 7 สายพันธุ์ สองในนั้นคือ BA.2.75 และ XBB.1.16

2. ตัวเลขขององค์การอนามัยโลก ในช่วง 20-26 มีนาคม 2566 พบ XBB.1.5 มากที่สุดจำนวน 47.9% ใน 95 ประเทศ ส่วน XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะนี้พบ 7.6%

3. ไวรัสทั้งสองกลุ่ม ที่องค์การอนามัยโลกติดตามอยู่นั้น ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงของการก่อโรคที่เพิ่มขึ้นมากกว่าไวรัสสายพันธุ์เดิม

4. XBB.1.16 มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ XBB.1.5

5. XBB.1.16 พบครั้งแรกที่อินเดียเมื่อมกราคม 2566 และองค์การอนามัยโลกได้ยกระดับให้เป็น VUM เมื่อ 30 มีนาคม 2566

shutterstock 1737637544

6. XBB.1.16 พบมากที่สุดที่ประเทศอินเดีย และพบมากเป็นลำดับสองที่สหรัฐอเมริกา ส่วนในไทยเพิ่งตรวจพบจำนวน 27 ราย

7. XBB.1.16 เป็นไวรัสลูกผสม ที่เกิดจากไวรัส Omicron สองสายพันธุ์ย่อยคือ BA.2.75 กับ BA.2.10.1

8. XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งหนาม สามตำแหน่งคือ 180 486 และ 478 ซึ่งแตกต่างจาก XBB.1.5 ที่กลายพันธุ์เพียงตำแหน่งเดียว

9. จึงทำให้ XBB.1.16 มีความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่า XBB.1.5 แต่หลบภูมิคุ้มกันได้เท่ากัน และยังไม่มีหลักฐานว่าความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้น

10. อาการจากไวรัสดังกล่าว ก็คงเหมือนกับไวรัสสายพันธุ์เดิมคือ มีไข้ น้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เพียงแต่ในเด็กอาจจะพบลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นคือ ตาแดงและคัน

11. ในประเทศไทยยังคงพบไวรัสสองสายพันธุ์มากที่สุดคือ XBB.1.5 และ BA.2.75 โดย XBB.1.16 เพิ่งเริ่มพบเมื่อเร็วๆนี้

โควิดไทย

12. ไวรัสสายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ย่อย อยู่ในสายพันธุ์หลักเดิมคือ Omicron เช่นเดียวกับไวรัสสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5

13. ไวรัสใหม่นี้ ยังสามารถตรวจพบได้ด้วยเอทีเคและพีซีอาร์เหมือนเดิมทุกประการ

14. วัคซีนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งสายพันธุ์ หรือสองสายพันธุ์ ยังมีความสามารถในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ดี

15. ยาต้านไวรัสทุกตัวที่มีใช้ในการรักษา ยังคงได้ผลดีเท่าเดิม

16. แนวทางการรักษาที่กระทรวงสาธารณสุขแถลง ยังคงใช้แนวทางเหมือนเดิม ซึ่งได้ผลดีโดยตลอด

17. การฉีดวัคซีน จะมีการประกาศเป็นวัคซีนประจำฤดูกาลทำนองเดียวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยแนะนำให้เริ่มฉีดเป็นวัคซีนประจำปีในเดือนพฤษภาคม ก่อนเข้าหน้าฝน

สามารถฉีดพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ในวันเดียวกัน หรือจะห่างกันกี่วันก็ได้ ทั้งนี้จะต้องมีการฉีดวัคซีนโควิดก่อนหน้านั้นมาแล้วอย่างน้อยห่างออกไป 3 เดือน

หมอเฉลิมชัย1

กล่าวโดยสรุป

1. ไวรัส XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ย่อยอยู่ในสายพันธุ์หลักเดิมคือ Omicron

2. มีความสามารถในการแพร่ระบาดติดเชื้อเร็วขึ้น แต่อาการความรุนแรงยังไม่มีรายงานว่าเป็นมากขึ้น

3. ยังสามารถป้องกันด้วยวัคซีน ป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ และรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดเดิมได้ผล

ประชาชนทุกคน จึงควรรับทราบข่าวเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพียงยกระดับวินัยในการป้องกันตนเองเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo