กรม สบส. เผยพฤติกรรมเสี่ยง 5 ป. ติดเชื้อโควิด 19 พบประชาชนไปกินหมูกระทะ ชาบู สุกี้ร่วมกับเพื่อน ญาติ ครอบครัว ช่วงเทศกาลปีใหม่มากที่สุด แนะตรวจ ATK ก่อนและหลังปีใหม่
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ เป็นเทศกาลที่หลายคน มีการเฉลิมฉลอง พบปะสังสรรค์ การทำกิจกรรม รวมถึงเดินทางกลับภูมิลำเนา และการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในวันหยุดยาว ที่อาจมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ซึ่งากไม่มีการป้องกันอาจมีความเสี่ยง ในการติดเชื้อโควิด 19
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการวางแผนชีวิตในช่วงปีใหม่ จำนวน 26,365 คน ระหว่างวันที่ 9-25 ธันวาคม 2565 พบ 5 อันดับ ที่ประชาชนมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมเสี่ยง 5 ป. ต่อการติดเชื้อโควิด 19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ดังนี้
- 78.7% ไปกินหมูกระทะ ชาบู สุกี้ ร่วมกับเพื่อน ญาติ ครอบครัว
- 68.6% ไปจับจ่ายซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าหรือตลาดสด
- 39.4% ไปร่วมงานเลี้ยงปีใหม่กับที่ทำงาน
- 37.8% ไปเคาท์ดาวน์ตามห้างสรรพสินค้า ผับ บาร์ หรือปาร์ตี้ส่วนตัวกับเพื่อน ๆ
- 33.9% ไปเที่ยวงานประจำปีของพื้นที่
ทั้งนี้ได้ทำการสำรวจการตรวจ ATK ของประชาชนในการเดินทางไปและกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางไปท่องเที่ยวเทศกาลปีใหม่ ผลการสำรวจพบว่า
- 25.8% คาดว่าจะไม่ตรวจ ATK ก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยว
- 20% คาดว่าจะไม่ตรวจ ATK หลังเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางไปท่องเที่ยว
- 17.7% คาดว่าจะไม่ตรวจ ATK ทั้งก่อนและหลังเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางไปท่องเที่ยว
จากผลการสำรวจพบประชาชนทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 และบางส่วนไม่ตรวจ ATK ก่อนและหลังทำกิจกรรมช่วงเทศกาลปีใหม่
ดังนั้น ประชาชนควรป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กับบุคคลใกล้ชิด ด้วยการปฏิบัติตามแนววิถีใหม่ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และควรตรวจ ATK ก่อนและหลังจากการทำกิจกรรมในช่วงปีใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับญาติพี่น้องและบุคคลใกล้ชิด
ด้านนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การป้องกันโควิด 19 จากการเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวในเทศกาลปีใหม่ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และมาตรการป้องกันโควิด 19 ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ เพราะการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุควรป้องกันการติดเชื้อโควิดอย่างเคร่งครัด โดยควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 4 เข็ม เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน
หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยสามารถขอรับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการทางสาธารณสุขใกล้บ้าน จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงหากมีการติดเชื้อโควิด และช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค โควิด 19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สหรัฐ ผวาโควิดจีน งัดมาตรการด่วน นักท่องเที่ยวจีนเข้าสหรัฐ ต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบเริ่ม 5 ม.ค. 66
- ข่าวดี!!โควิดไทยเริ่มขาลง สธ.ย้ำหนัก วัคซีน 4 เข็มสำคัญ ปี’66 ระบาดตามฤดูกาล
- สรุปสถานการณ์โควิดรอบสัปดาห์ ติดเชื้อเพิ่ม 2,900 ราย เสียชีวิต 89 ราย