Wellness

รู้จัก 6 วิธี สกัด ‘ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว’

กรมสุขภาพจิต เผย เทศกาลแห่งการพักผ่อนกับวันหยุดยาว อาจมาพร้อมกับ “ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว” พร้อมแนะ 6 วิธี รับมือ และป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในทางจิตวิทยาทั้ง Post-Vacation Depression หรือ Post-vacation Blues หมายถึง อารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นหลังหยุดยาวติดต่อกันหลายหลายวัน ทำให้เกิดอารมณ์เศร้า เบื่อหน่าย ไม่กระตือรือร้น ทำให้มีอาการคล้ายภาวะหมดไฟ หรือรบกวนการทำงานได้

ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

“อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว” ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นสภาวะอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นหลังวันหยุดยาว ซึ่งโดยปกติแล้วจะสามารถหายไปเองใน 2-3 วัน สำหรับบางคนอาการอาจอยู่ยาวถึง 2-3 สัปดาห์เลยก็ได้ โดยอาการหลัก ๆ ก็คือ อารมณ์เศร้า หดหู่ เหนื่อย ไม่อยากทำอะไร รู้สึกเหมือนคนหมดไฟ และไม่กระตือรือร้น

กรมสุขภาพจิตจึงขอแนะนำ 6 วิธี เพื่อรับมือกับอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว โดยสามารถทำได้ด้วยตนเอง ดังนี้

  • หาแรงจูงใจในการไปทำงาน

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายความก้าวหน้าในการทำงาน เช่น การได้ขึ้นเงินเดือน หรือโบนัส หรือหาใครบางคนที่ทำให้การทำงานของมีความหมาย เช่น ลูกค้า หรือผู้มารับบริการ หากได้พบหรือทำให้ผู้นั้นรู้สึกดีขึ้น นั่นก็ทำให้การทำงานมีความหมาย และทำให้อยากไปทำงานมากยิ่งขึ้น

ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

  • สร้างคุณค่าในการทำงาน

มองหาข้อดีของการทำงาน เช่น มองหาว่าใครได้รับประโยชน์จากการทำงาน หรือสิ่งที่สามารถทำประโยชน์ต่อคนอื่น หรืองานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร เช่น มีทักษะเฉพาะด้าน เพิ่มมากขึ้น มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเป็นต้น

  • อยู่กับปัจจุบัน

หากการติดอยู่ในอดีต (การคิดถึงช่วงวันหยุดยาว) ทำให้เป็นทุกข์ และอนาคต (วันหยุดยาวรอบต่อไป) ก็ยังมาไม่ถึง และไม่แน่ไม่นอน ดังนั้น จึงควรอยู่กับปัจจุบัน วางแผนการทำงานแบบวันต่อวัน โดยการจดลิสต์รายการที่ต้องทำในแต่ละวัน แล้วจะเห็นเหตุผลที่ต้องไปทำงานในแต่ละวัน

การทำลิสต์นี้นอกจากจะทำให้รู้ว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้างแล้ว ยังทำให้เห้นความก้าวหน้าในการทำงานของอีกด้วยว่า ทำอะไรเสร็จไปบ้างแล้ว

  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน

หากการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำซากจำเจ ทำให้เบื่อการทำงาน ก็ลองเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ให้สร้างสรรค์มากขึ้น ได้ท้าทายตัวเอง แล้วยังทำให้รู้สึกสนุกกับการทำงาน และเกิดความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย

  • หาเพื่อนรู้ใจ และทีมในการทำงาน

หากการทำงานคนเดียวมันเหงา พาใจให้เฉาก็ลองหาเพื่อนคู่หูในการทำงาน หรือสร้างทีมเพื่อทำงาน เพราะการทำงานเป็นคู่ หรือเป็นทีมนั้น นอกจากจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น สมบูรณ์แบบขึ้น มีประสิทธิภาพ ที่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ยังลดโอกาสผิดพลาดในการทำงาน มีความสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น และสนุกกับการทำงานมากขึ้นด้วย

ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

  • วางแผนเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป

การวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาวครั้งต่อไป ทำให้เกิดความหวัง และรอคอยวันหยุดครั้งต่อไป จะทำให้เกิดความรู้สึกกระชุ่มกระชวย มีไฟในการเคลียร์งานให้เสร็จอย่างไว และมีใจที่สดใส เพื่อรอไปเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป

ทั้งนี้ แม้อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่รุนแรง แต่ส่งผลอย่างมากต่อทัศนคติ และความรู้สึกที่มีต่อการทำงาน และประสิทธิภาพต่อการทำงาน

หากปล่อยให้มีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่ายต่อการทำงานเป็นเวลานาน ก็จะทำส่งผลกระทบต่อภาวะหมดไฟ และความก้าวหน้าในการทำงาน จึงควรดูแลจิตใจตนเองรับมือกับภาวะนี้อย่างเข้าใจรวม รวมทั้งใช้เทคนิคการดูแลสุขภาพจิตดังกล่าว ก็สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และทำให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo