วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นศาสนสถานสำคัญของเมืองโบราณ แพรกศรีราชา ซึ่งเป็นเมืองโบราณริมฝั่งแม่น้ำน้อย ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เจริญสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และคงอยู่ต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน วัดมหาธาตุ เดิมเรียกว่า วัดหัวเมือง หรือ ศีรษะเมือง มีบริเวณพื้นที่ด้านหน้าเรียกว่า “หน้าพระลาน” เช่นเดียวกับบริเวณศูนย์กลางของเมืองใหญ่ทั้งอยุธยา และกรุงเทพมหานคร จึงน่าจะเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองแพรกศรีราชามาแต่โบราณ
วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนา ก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น พระอุโบสถรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพระเจดีย์ซึ่งปรากฏเหลือเพียงส่วนฐานรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้นเป็นประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยระเบียงคต ซึ่งมีร่องรอยของการก่อสร้างขยายออกไปล้อมพระวิหารทางด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นอาคารขนาดเก้าห้อง เหลือเพียงฐานเสาแปดเหลี่ยมยอดบัวจงกล และผนังบางส่วน ภายในโดยรอบระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูป ที่กึ่งกลางระเบียงคตด้านทิศตะวันตกประดิษฐาน หลวงพ่อหลักเมือง หรือ หลวงพ่อหมอ พระพุทธรูปโบราณที่เรียกท่านว่า หลวงพ่อหลักเมือง นั้นก็เพราะเบื้องหลังของท่านมีแผ่นศิลาสองแผ่นสลักลายเทวรูปปักอยู่คู่กัน
ชาวบ้านต่างพากันเรียกว่า หลักเมือง จึงเรียกหลวงพ่อองค์นี้ว่า หลวงพ่อหลักเมือง ด้วยส่วนชื่อ หลวงพ่อหมอ มาจากที่ชาวบ้านในแถบนั้น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย จะพากันมาบนบามศาลกล่าว หรือ ขอน้ำมนต์กันไปรักษากันตามความเชื่อ
บริเวณด้านหลังวัด มีลักษณะคล้ายเมืองเก่า มีโบราณสถานและพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ ประดิษฐานอยู่ ถัดไป คือ องค์พระมหาธาตุ ที่ก่อด้วยอิฐสีแดง ปัจจุบันยังคงเหลือไว้แต่ฐานสี่เหลี่ยม มีผ้าสีเหลืองพันรอบองค์พระธาตุ
พระวิหาร 9 ห้อง ซึ่งเป็นอาคารขนาดเก้าห้อง ที่ตอนนี้เหลือเพียงเสาแปดเหลี่ยมยอดบัวจงกล และผนังบางส่วนเท่านั้น มีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระประธาน 1 องค์ เป็นลักษณะช่างสกุลเมืองสรรค์ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ อายุ 700 ปี ลักษณของสถาปัตยกรรมของวิหารมองไปแล้วคล้ายกับที่สุโขทัย
พระอุโบสถโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพระเจดีย์ที่เหลือเพียงส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงซ้อนกันหลายชั้น แต่ส่วนใหญ่พังทลายลงไปมากจนไม่เห็นถึงสภาพที่แท้จริง
นอกจากนี้ ก็ยังมีหมู่เจดีย์รายข้างพระวิหาร สร้างด้วยศิลปะอู่ทองงดงาม เช่น เจดีย์แปดเหลี่ยม กลีบมะเฟืองประดับรูปเทพพนม มีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ มีฐานซ้อนเป็นชั้น มีซุ้มประดิษฐานพระยืนแปดทิศในซุ้มเรือนแก้วโค้ง
รูปแบบอิทธิพลปรางค์กลีบมะเฟือง ที่เมืองลพบุรี รวมทั้งพระวิหาร และหมู่เจดีย์ต่างๆสร้างด้วยศิลปะที่งดงามมาก
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ศุกร์ (สุข) ละวัด : ไหว้หนึ่ง ‘หลวงพ่อโต’ กับ ‘สองพระนอน’
- ศุกร์(สุข)ละวัด สถาปัตยกรรมล้านนา กับ ‘วัดป่าดาราภิรมย์ ‘
- สารทเดือนสิบ : ประเพณีทำบุญใหญ่ ชาวเมืองนครศรีฯ