Sports

เปิดความเสี่ยง ‘ไทย’ อาจเป็นชาติเดียวในอาเซียน อดดู ฟุตบอลโลก 2022

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วันก่อนนัดแรกของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มฟาดแข้ง ที่การ์ต้าประเทศเจ้าภาพ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า คนไทยกว่า 60 ล้านคนจะได้รับชมมหกรรมกีฬาครั้งสำคัญนี้หรือไม่ เนื่องจากหาผู้ที่จะซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในประเทศยังไม่ได้

บีบีซี รายงานว่า แม้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานการประชุมคณะกรรมการ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้กำชับ กกท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้เร่งดำเนินการประสานงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้คนไทยได้ชมการถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022 แต่แล้วผลการหารือยังไม่มีข้อยุติ

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ราคาค่าลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างสูง โดยมูลค่าลิขสิทธิครั้งที่แล้วที่มีเอกชนลงขันกัน 9 ราย ที่ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ 3 รายคือ ทรูโฟร์ยู อมรินทร์ทีวี และช่อง 5 เมื่อ 4 ปีที่แล้วยังมีต้นทุนถึง 1.4 พันล้านบาท

ฟุตบอลโลก 2022

ไทยเป็นเพียงชาติเดียวในอาเซียน ที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 

จนถึงขณะนี้ ไทยยังไม่มีตัวแทนที่เข้าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ในขณะที่ชาติต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียน มีผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดจาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ทั้งหมดแล้ว โดยส่วนใหญ่ได้รับลิขสิทธิครอบคลุมสื่อทุกแฟลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ มือถือ และอินเทอร์เน็ต

ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในภูมิอาเซียนจากข้อมูลของฟีฟ่า และการรายงานผ่านสื่อประกอบด้วย

  • กัมพูชา  บริษัทคัมโบเดียน บรอดคาสติ้ง เซอร์วิส บริษัทเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ระดับชาติของกัมพูชา
  • อินโดนีเซีย มีผู้ถือลิขสิทธิ์ 4 ราย เป็นสถานีโทรทัศน์ 3 ราย และบริษัทด้านการเผยแพร่เนื้อหาทางระบบออนไลน์อีก 1 ราย
  • ลาว บริษัทลาว เอเชีย แปซิฟิก แซทเทลไลท์ ผู้ให้บริการด้านการส่งสัญญาณระบบดาวเทียม โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์
  • มาเลเซีย บริษัทแอสโตร มีแซท มาเลเซีย ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตรายใหญ่
  • เมียนมา บริษัทสกาย เน็ต เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
  • ฟิลิปปินส์ บริษัททีเอพี ดิจิทัล มีเดีย เวนเจอร์ คอร์ป บริษัทสื่อบันเทิงรายใหญ่ครอบคลุมทุกแฟลตฟอร์ม
  • สิงค์โปร์ สตาร์ ฮับ ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่
  • ติมอร์เลสเต อีทีโอ-เทลโค ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศนดาวเทียม
  • เวียดนาม  สถานีโทรทัศน์และวิทยุแห่งชาติเวียดนาม

กกท. คาดปิดดีลซื้อลิขสิทธิ์ภายในสัปดาห์นี้

เนื่องจากเหลือเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ในการเจรจาขอซื้อลิขสิทธ์จากฟีฟ่า ทำให้หน่วยงานหลักอย่าง กกท. มีการประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่ง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยว่า จะมีการเสนอรายละเอียดความพร้อม และข้อจำกัดของไทย ที่ต้องมีการประสานความร่วมมือจากหลายทาง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ กกท. และ กสทช. รวมถึงเอกชนไปแล้ว

ขณะเดียวกัน กกท. ได้ส่งข้อมูล ให้ กสทช. เพื่อรับทราบควบคู่กันไป และคาดภายในสัปดาห์นี้ ดีลถ่ายทอดสดครั้งนี้น่าจะเรียบร้อย เพื่อให้คนไทยได้ดูฟรีทั้ง 64 แมทช์การแข่งขัน

ฟุตบอลโลก 2022

กฎ Must Have และ Must Carry ระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันเสรีหรือไม่

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมโทรทัศน์รายหนึ่ง บอกว่า สาเหตุที่ปีนี้ไม่มีภาคเอกชนรายใดเข้ายื่นประมูลการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลกครั้งนี้ มาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ของกลุ่มที่คว้าสิทธิการถ่ายทอดฟุตบอลโลกครั้งที่แล้ว ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประกอบด้วยเอกชน 9 ราย คือ

  • บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
  • บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ
  • เครือเจริญโภคภัณฑ์
  • บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์
  • บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล
  • บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น
  • บมจ. คาราบาวกรุ๊ป

โดยครั้งนั้น เพื่อให้เป็นไปตามกฎของ กสทช. ที่กำหนดให้รายการแข่งขันกีฬานานาชาติขนาดใหญ่ ต้องได้รับการถ่ายทอดโดยผู้ชมคนไทยไม่ต้องเสียเงินในการรับชมจึงทำให้ต้องถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 3 สถานี ประกอบด้วย ช่องทรูโฟร์ยู ช่องอมรินทร์ทีวี และช่อง 5

ฟุตบอลโลก 2022

อย่างไรก็ตาม ด้วยเม็ดเงินการลงทุนครั้งนั้น มีจำนวนมากกว่า 1.4 พันล้านบาท จึงทำให้การดำเนินการให้ได้มาซึ่งกำไรจากดีลธุรกิจครั้งนั้นไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชน ไม่มีความสนใจในการเข้าประมูลลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาใช้ต่อยอดทางธุรกิจ ภายใต้กฎระเบียบของ กสทช.

กฎระเบียบ กสทช. ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ประกอบด้วย ประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์รายการ โทรทัศน์สำคัญ ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ ที่เป็นการทั่วไป หรือ กฎมัสต์แฮฟ (Must Have) ซึ่งกำหนดให้รายการแข่งขันกีฬา 7 ประเภท ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จะต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวี เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับชมเท่านั้น

ประกอบด้วย รายการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ โอลิมปิก พาราลิมปิก และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

นอกจากนี้ ยังมีประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ กฎมัสต์แครี่ (Must Carry) ที่กำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตกิจการทีวีทุกประเภทของ กสทช.ต้องออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลนั้น หมายความว่า หากแพลตฟอร์มอื่นที่นำสัญญาณการแพร่ภาพของฟรีทีวีไปเผยแพร่ จำเป็นต้องนำไปเผยแพร่ทั้งช่อง และทุกรายการ โดยไม่สามารถดัดแปลงหรือทำซ้ำได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลายเป็นสภาพบังคับให้ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิการถ่ายทอดกีฬาทั้ง 7 ประเภทดังกล่าวจะต้องซื้อสิทธิแบบครอบคลุมทุกสื่อทั้งโทรทัศน์ วิทยุ มือถือและอินเทอร์เน็ต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo