Lifestyle

LGBTQ ‘สมรสเท่าเทียม’ แค่ ‘จดแจ้งความรัก’ ยังไม่มีผลทางกฎหมาย

สถิติที่น่าทึ่ง!! สำนักงานเขตบางขุนเทียนเปิดสถิติ คู่รัก LGBTQ+ มาจดแจ้งความรัก มากถึง 269 คู่  จดทะเบียนสมรส 159 คู่ ช่วงวันวาเลนไทน์ ผอ.บางขุนเทียน บอกใบบันทึกจดแจ้ง ไม่มีผลบังคับทาง กฏหมายที่ผูกพันใดๆ

วันวาเลนไทน์ผ่านพ้นไปแล้ว แต่สำหรับปีนี้มีกิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกของประเทศไทย ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องพูดถึง นั่นก็คือ “การจดทะเบียนสมรสของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ” ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียนจัดขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 วันวาเลนไทน์ สำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้จัดงาน “จดแจ้งความรัก” ให้กับคู่รัก LGBTQ+ ภายใต้บรรยากาศงานกิจกรรม The Candle of Love หรือ “บางขุนเทียน แสงเทียนแห่งรัก” การจดทะเบียนสมรสและการบันทึกจดแจ้งความรัก คู่รัก LGBTQ+ ณ ศูนย์การค้าเดอะไบรท์ พระรามที่ 2 จัดโดยสำนักงานเขตบางขุนเทียน บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น รอยยิ้มและความสุข

LGBTQ

 

LGBTQ ‘สมรสเท่าเทียม’ แค่ ‘จดแจ้งความรัก’ ไม่มีผลทางกฎหมาย

โดยวันวาเลนไทน์ในปีนี้  สำนักงานเขตบางขุนเทียนมีสถิติใหม่ ได้รับความสนใจ จากคู่รัก LGBTQ+ มาจดแจ้งความรัก มากถึง 269 คู่ และจดทะเบียนสมรสคู่รักหญิง-ชาย 159 คู่ รวมเป็น 428 คู่ !!!!

LGBTQ

สำนักงานเขตบางขุนเทียน ขอขอบคุณคู่รักทุกคู่เป็นอย่างสูง ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรม การจดทะเบียนสมรสและการบันทึกจดแจ้งความรัก  เป็นอย่างสูง

นายพงษ์จักรินทร์ ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน บอกว่าการบันทึกจดแจ้งของ LGBTQ+ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่กับ LGBTQ+ ในระหว่างที่รอกฏหมายมีผลบังคับใช้ในอนาคต ได้แสดงหรือต้องการให้รับรู้ถึงการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเหมือนคนทั่วไป  การจดแจ้ง ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และการทำบันทึกจดแจ้งไม่ได้ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีภาคเอกชนให้การสนับสนุน ทั้งวัสดุอุปกรณ์และใบเอกสารที่ออกให้ อย่างไรก็ตาม ใบบันทึกจดแจ้ง จะไม่มีผลบังคับทางกฏหมายที่ผูกพันใดๆ แต่เป็นการแสดงออกให้เห็นว่ามี LGBTQ+ จำนวนมากในประเทศไทย ที่ยังรอความเท่าเทียม

LGBTQ
ภาพ:เพจสำนักงานเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
LGBTQ
ภาพ:เพจสำนักงานเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

ในวันวาเลนไทน์ 2565 ที่ผ่านมา สร้างความคึกคักมากเมื่อ กลุ่มภาคีสีรุ้งได้จัดกิจกรรม # สมรสเท่าเทียม ทั้งแผ่นดิน ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดที่จังหวัดเชียงใหม่ สกลนคร ภูเก็ต

ที่จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรม ที่บริเวณประตูท่าแพ ต่อเนื่องจากกิจกรรมที่กาดหลวง รณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมาย # สมรสเท่าเทียม โดยกลุ่ม ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม Young Pride Club

LGBTQ

274077353 1178609692876281 269197223519896428 n

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เพจ สมรสเท่าเทียม Marriage Equality ออกแถลงการณ์จากภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม

“เราไม่คิดมาก่อนว่า การเรียกร้องสมรสเท่าเทียมจะกลายความผิดร้ายแรงจนออกหมายเรียกเพื่อตั้งข้อกล่าวหากว่ายี่สิบคน”

ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ ทั้งนโยบายของรัฐ การมีสถานประกอบการที่สนับสนุนในการใช้ชีวิต สื่อเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน นักร้อง นักละคร และนักภาพยนตร์สร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาที่เข้าใจความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น มีตัวแทนประชาชนได้รับการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสภาผู้แทนราษฎร และที่สำคัญความรักของคู่รัก LGBTI+ ได้ถูกนำมาโปรโมทเป็นหน้าเป็นตาของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะให้ความรักของเพศหลากหลายดึงดูดนักท่องเทียวทั่วโลก แต่เราพบว่ากฎหมายและนโยบายของรัฐยังไม่คุ้มครองบุคคลเพศหลากหลายอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเลือกปฎิบัติที่ไม่ให้คนรัก LGBTQIN+ จัดตั้งครอบครัวโดยการสมรสได้

เรา,ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม เราได้รวมตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวและนักกิจกรรม LGBTQIN+ จำนวน 60 องค์กร ที่ทำงานในการผลักดันนโยบายและกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิ LGBTQIN+ มาหลายปี เรามีเจตนารมณ์เพื่อสร้างการยอมรับด้านความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมเป็นธรรมสำหรับชาว LGBTQIN + การรวมตัวครั้งนี้เพื่อปักธงยกระดับการขับเคลื่อนการรับรองกฎหมายการจัดตั้งครอบครัว หรือ สมรสเท่าเทียม
ในช่วงสถานการณ์ความรุนแรงของโควิดในประเทศลดลง ประกอบกับที่มีการเปิดสมัยสภา เราจึงเห็นความสำคัญในการรณรงค์ให้ประชาชนได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย พรบ.สมรสเท่าเทียม ตามสิทธิและเสรีภาพในฐานะพละเมืองจึงจัดจัดกิจกรรมสมรสเท่าเทียม ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่บริเวณแยกราษฎรประสงค์ เราได้รับการสนับสนุนรายชื่อมากกว่าสองแสนเจ็ดหมื่นรายชื่อ รายชื่อเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เราเสนอนั้นเป็นผลประโยชน์สาธารณะในวงกว้าง

268908127 2863566363943398 8961202394634283621 n

แม้ว่าหลังจากที่เรารวบรวมรายชื่อจะมีการเผยแพร่ผลคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นสมรสกันได้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลหลายจุดเต็มไปด้วยถ้อยคำที่ตีตราบุคคลเพศหลากหลาย สะท้อนถอยหลังในประเด็นความเป็นธรรมทางเพศ ไม่ว่า ศาลเห็นว่าลักษณะตามธรรมชาติของร่างกายชายกับหญิงอันสอดคล้องกับการตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรนั้นมีความสัมพันธ์กับการสมรสจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ เป็นเหตุให้การสมรสเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น ตลอดจนการสมรสซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งครอบครัวและให้กำเนิดบุตรนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสังคม นอกจากนั้น การที่วินิจฉัยว่า LGBTI เป็น “ผู้ที่กำหนดเพศไม่ได้” หรือแม้แต่การเปรียบเทียบกระบวนการเกิดขึ้นของการคุ้มครองความหลากหลายทางเพศในสังคมกับ ‘สัตว์โลกบางประเภท’ ที่มีพฤติกรรมหรือลักษณะทางชีวภาพแปลกแยกออกไปเพื่อการศึกษา

การจัดกิจกรรมดังกล่าวจนได้รายชื่อมากกว่าสามแสนรายชื่อจึงเป็นประจักษพยานที่สำคัญว่าประชาชนต้องการอะไร มากกว่าจะสยบยอมภายใต้กลุ่มตุลาการที่ล้าหลังและไม่เคารพศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของเพศอื่น นี่คือการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะของเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ไม่เคยได้รับสิทธิคุ้มครองทางกฎหมายมาก่อน

แต่จากการรวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมสมรสเท่าเทียม ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ที่ผ่านมา นักกิจกรรม ตัวแทนพรรคการเมือง ศิลปิน ที่ร่วมเวทีได้รับหมายเรียกเพื่อรายงานละเมิด พรก.ฉุกเฉินร้ายแรง จากประกาศของ ประยุทธ จันทร์โอชา ในข้อหาร่วมกันจัดกิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งประชาชนทราบดีอยู่แล้วว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ ประกาศในช่วงที่สถานการณ์โควิดรุนแรงและต่ออายุมาเรื่อยๆ ทั้งที่จริง รัฐบาลสามารถยกเลิกและใช้เพียง พ.ร.บ.คุ้มครองโรคติดต่อได้นานแล้ว แต่รัฐยังคงใช้ พรก.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือและข้ออ้างในการจัดการกับผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เราเห็นว่าการเรียกรายงานตัวเพื่อดำเนินคดีครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับประชาชน เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นการการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือ การฟ้องปิดปาก (SLAPPs – strategic lawsuits against public participation) คือความรุนแรงจากรัฐที่กระทำต่อพลเมืองเหมือนที่ได้มีการจับกุมคุมขัง และฟ้องร้องนักกิจกรรมที่มาเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีที่ผ่านมามากกว่า 1600 คดี

วันนี้ เรามารายงานตัวและต่อสู้คดีความ ไม่ได้หมายความว่าเราสยบยอมกับอำนาจไม่เป็นธรรม แต่เรายินดีเข้าสู้การต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อให้เห็นว่า เรามีเสรีภาพทางความคิดและเรามีสิทธิพลเมืองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญทีจำได้ และหลังจากนี้เราจะพิจารณาเพื่อดำเนินการคืนความยุติธรรมให้กับนักกิจกรรมที่โดนตั้งข้อกล่าวหาครั้งนี้ ด้วยกระบวนการทางกฎหมายกลับด้วย
เราขอส่งกำลังใจ และโอบกอดเพื่อนนักกิจกรรมความหลากหลายทางเพศ และนักกิจกรรมทางการเมืองที่เจอความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ พวกเราเองเดินมาไกลจนไม่สามารถถอยหลังกลับได้ เราต้องการสังคมที่เคารพกัน เปิดพื้นที่ให้ทุกคน ทุกเพศอยู่อย่างเท่าเทียม และเป็นสังคมแห่งอนาคตเพื่อให้เด็กและเยาวชนโตมาในสังคมที่เขาสามารถจินตนาการและกำหนดชีวิตของเขาเองได้ โดยไม่ต้องหลบซ่อนเพียงเพราะว่าเขาเป็นเพศหลากหลาย เราต้องการสังคมที่เปิดพื้นที่ความรักให้ทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นเพศใด และเราจะร่วมสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีความเป็นธรรมทางเพศโดยไม่ย่อท้อไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับอำนาจปิตาธิปไตยหรือเผด็จการในทุกรูปแบบ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight