Lifestyle

นักดื่มต้องรู้!! แอลกอฮอลิซึม ห้ามหักดิบ ร่างกายรับไม่ไหว เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

กรมการแพทย์ โดย สบยช. เตือนภัย แอลกอฮอลิซึม หักดิบหยุดดื่มกะทันหันร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แนะคนใกล้ชิดสังเกตอาการ รีบพาไปบำบัด

รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ที่เป็น แอลกอฮอลิซึม (Alcoholism) หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง หมายถึง ผู้ที่ดื่มมากกว่าตั้งแต่ 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป และดื่มวันละมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐาน ซึ่งเทียบได้กับเบียร์ 1.5 กระป๋อง เหล้าแดง 4 ฝา ไวน์ 2 แก้ว เหล้าขาว 2 เป๊ก

แอลกอฮอลิซึม

ทั้งนี้ การดื่มสุรา ที่เป็นเครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง จะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง เกิดไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ และเกิดภาวะตับแข็งตามมา เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ขณะที่พิษแบบเฉียบพลัน จะทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือทะเลาะวิวาทได้ง่าย

นอกจากนี้ โรคพิษสุราเรื้อรัง จะทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง ระบบความจำบกพร่อง สับสนไม่รู้วัน เวลา สถานที่ สมองเสื่อม มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม

อย่างไรก็ตาม หากหยุดดื่มอย่างกะทันหัน จะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน มักจะพบอาการมือสั่น เหงื่อออก เป็นไข้ สับสน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน หวาดระแวง คิดว่าจะมีใครมาทำร้าย อาจทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายผู้อื่น ชักเกร็ง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ และมีการหักดิบหยุดดื่มกะทันหัน ร่างกายจะปรับสภาพไม่ทัน ทำให้เกิดอาการอยากอย่างรุนแรงหรือเสี้ยน (craving)

หากกลับมาดื่มอีกครั้ง จะไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดดื่มได้ ทำให้ดื่มมากกว่าที่เคยดื่ม เกิดพิษสุราแบบเฉียบพลันได้ง่ายกว่าปกติ ทำให้สมาธิลดลง มึนงง ปฏิกิริยาตอบกลับอัตโนมัติช้าลง เสียการควบคุมระบบกล้ามเนื้อ กดการหายใจและการเต้นของหัวใจ ไม่รู้สึกตัว การหายใจช้าลงและอาจเสียชีวิตได้

สำหรับความรุนแรงของอาการ จะขึ้นอยู่กับปริมาณสุราที่ดื่มเข้าไป ดังนั้น ครอบครัวและคนใกล้ชิด ต้องสังเกตอาการของผู้ที่หยุดดื่มกะทันหัน หากพบมีอาการเสี่ยงให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อขอรับคำปรึกษาหรือเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา

ขณะที่การบำบัดรักษามี 2 รูปแบบ คือ

  • การบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยนอก เหมาะสำหรับผู้ติดแบบไม่รุนแรงมาก สามารถดูแลการทานยาและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกาย
  • การบำบัดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนทางกาย โดยแพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อฟื้นฟูกระบวนการคิด สมรรถภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป

ที่สำค้ญ คือ การดื่มสุราไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อร่างกาย ในผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ยิ่งในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การดื่มสุรายิ่งเพิ่มความเสี่ยง ในการรับเชื้อมากขึ้น

ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo