Lifestyle

ถอดบทเรียนเกม ‘จับเด็กแก้ผ้า’ กับการละเมิดสิทธิเด็ก

ถอดบทเรียนเกม “จับเด็กแก้ผ้า” กับการละเมิดสิทธิเด็ก บนความสนุกสนาน ของผู้ใหญ่

จากกรณีดราม่ากีฬาสี เมื่อครูให้เด็กแข่งแต่งกาย โดยจับ “แก้ผ้า” ทั้งชาย-หญิง ขึ้นไปบนเวทีท่ามกลางสายตาของเพื่อนในโรงเรียน โดยผู้ปกครองตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่ถูกครูให้เด็กอายุ 4 ขวบ เปลือยกายบนเวที เพื่อแข่งขันกันใส่เสื้อผ้า ระหว่างกิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียน

เด็ก2

ผู้ปกครองท่านหนึ่ง ไปโพสต์ข้อความปรึกษากับเพจ “จิตวิทยาเด็กและครอบครัว ปรึกษาเรื่องเลี้ยงลูก” ซึ่งข้อความระบุว่า ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิ และใช้สิทธิความเป็นพ่อของลูกสาว ที่ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่า จะมีกิจกรรมดังกล่าวการจับเด็กถอดเสื้อผ้าบนเวที เพื่อการแข่งขันใส่เสื้อผ้า แม้จะอยู่ในบริบทของการแข่งขัน ก็ยังคงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และอาจทำให้เด็กได้รับความเสียหายทางจิตใจ การทำเช่นนี้ อาจทำให้เด็กรู้สึกอับอาย ไม่สบายใจ และมีผลกระทบต่อความรู้สึกของตนเองต่อสาธารณะ เมื่อข้อความถูกโพสต์ออกไป มีข้อถกเถียงถึงการจัดกิจกรรมว่าเหมาะสมหรือไม่

กิจกรรมละเมิดสิทธิเด็ก

เกี่ยวกับเรื่องนี้  รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หรือ หมอเดว ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า กรณี กีฬาสี โรงเรียนอนุบาล จับเด็ก “ถอดเสื้อผ้า” หมด แล้วแข่งกันใส่ ท่ามกลางสายตาทุกผู้ปกครองและผู้ใหญ่ อยากบอกครูและโรงเรียนว่าไม่เหมาะสมอย่างแน่นอน ไม่ควรทำ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์ บนความสนุกสนาน ที่ไม่เข้าท่า เลยครับ

แนะทำไมไม่ทำ PLC (Professional Learning Community) เพื่อครูผู้บริหารออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกัน และใช้วัฒนธรรมพื้นที่ ที่มีการละเล่น ตามบริบทของพื้นที่ และเหมาะสมกับวัย พัฒนาการ ซึ่งหากออกแบบดีๆ เด็กๆ จะเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีงามผ่านการเล่น แบบไม่เอาเป็นการแพ้ชนะจนทำให้เกิดความเกลียด เสียใจตามมา

ภาพถ่ายหน้าจอ 2567 03 19 เวลา 10.21.49

อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจในเรื่องสิทธิเด็ก

เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน โพสต์ 14 ข้อ อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจในเรื่องสิทธิเด็ก โดยระบุว่า “เมื่อลูกถูกจับแก้ผ้าแข่งขัน

  1. เนื้อตัวร่างกายของเด็ก เป็นสิทธิของเด็ก ที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันปกป้อง
  2. การถูกบังคับให้แก้ผ้าต่อหน้าคนมหาศาล สร้างบาดแผลทางใจอย่างเลวร้ายให้กับเด็กหลายคน
  3. การรู้สึกว่า “โลกนี้ไม่ปลอดภัย” เป็นสิ่งที่ขัดขวางการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กๆ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องใหญ่ของวัยกำลังพัฒนา
  4. การพบว่าเราไม่มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา เราปกป้องตัวเองไม่ได้ อาจนำไปสู่ปัญหาการถูกล่วงละเมิดและไม่กล้าปริปากอะไรเมื่อเด็กโตขึ้น
  5. เด็กไม่ได้มีหน้าที่เกิดมาตอบสนองความสุขหรือความสนุกในชีวิตของผู้ใหญ่
  6. ปัจจุบันทุกคนมีกล้องส่วนตัว รูปโป๊ของลูกเราจะไปอยู่กับใคร เราควบคุมไม่ได้และหลายครั้งรูปเหล่านั้นถูกส่งไปในธุรกิจที่หากินกับเด็ก
  7. อะไรที่อยู่ในโลกออนไลน์ มันจะอยู่ตรงนั้นตลอดไป
  8. การ “แข่งขัน” ในวัยอนุบาล ที่ทำให้ต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ ไม่ได้สร้างให้เกิดการเรียนรู้อะไร ทั้งยังบั่นทอนตัวตนกับคนที่ต้องรับบทผู้พ่ายแพ้
  9. จะจัดกิจกรรมอะไรให้กับเด็ก คำถามสำคัญคือเด็กจะรู้สึกอย่างไร และได้เรียนรู้อะไร อะไรที่ไม่แน่ใจว่าเรากระทำกับเด็กได้หรือไม่ ให้นึกง่ายๆ คือเราจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนทำกับเราแบบนั้น
  10. “อำนาจนิยม” ในโรงเรียน เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถาม ว่าเราจะเปลี่ยนเป็นใช้ “อำนาจร่วม” ต่อกันได้มากกว่านี้มั้ย
  11. อย่า save ใคร เพราะเขามีอำนาจเหนือกว่า เราจะ save ใครจริงๆได้ เมื่อเราทำให้เขาได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง
  12. ในเหตุการณ์นี้ คนที่ต้องถูก save มากที่สุด คือ “เด็ก” ที่ยังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้
  13. สังคมที่ลุกขึ้นปกป้องเสียงเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องครอบครัวของเขา จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญในสังคม
  14.  การเยียวยาเด็ก หลายครั้งคือการที่ผู้ใหญ่ลุกขึ้นเรียกร้องความยุติธรรม หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้เรียนรู้กับสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น”

บทเรียนครั้งนี้ ความเหมาะสมเรื่องกิจกรรมสำหรับเด็กถือเป็นเรื่องสำคัญ ในระดับชั้นเรียน อนุบาล ไม่ควรมีการจัดการแข่งขันแพ้ชนะใดๆ ในระดับอนุบาล เพราะเด็กไม่เข้าใจการแข่งขัน และอาจจะรู้สึกเสียใจที่เป็นผู้แพ้ บนคำว่า สนุกสนาน เพลิดเพลิน อย่าคิดมาก ความจริงแล้วประเด็นที่อ่อนไหวมากๆ และคงต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะเป็นบาดแผลใจของเด็กตลอดไปก็ได้

ภาพถ่ายหน้าจอ 2567 03 19 เวลา 09.51.11

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo