Lifestyle

อย. แจงเนื้อสัตว์สด ไม่ต้องยื่นขอเลข อย. แต่ต้องขออนุญาตถ้าโฆษณาสรรพคุณ

อย. ชี้แจงกำกับดูแลการแสดงฉลากรวมถึงการโฆษณาเนื้อสัตว์สด ไม่แปรรูป ไม่ต้องยื่นขอเลข อย. แต่ต้องขออนุญาตถ้าโฆษณาคุณภาพ สรรพคุณ

จากกรณีศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา และห่วงใยว่าหน่วยงานใดกำกับดูแลเรื่องฉลากและโฆษณา นั้น

อย.

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เนื้อสัตว์สด ไม่แปรรูป เช่น หมู ไก่ เนื้อ เป็นอาหารที่ไม่ต้องยื่นขอเลข อย. โดยมีข้อบังคับการแสดงฉลากและยกเว้น ดังนี้

ข้อบังคับการแสดงฉลากและยกเว้น

กรณีได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงฉลาก เนื่องจากผู้จำหน่ายสามารถให้ข้อมูลผู้ซื้อได้โดยตรง ได้แก่

  • เนื้อสัตว์สดที่ไม่ได้บรรจุในภาชนะบรรจุ เช่น หมูที่วางบนเขียงเนื้อหมูในตลาดสด หรือเนื้อหมูที่วางในถาดที่จำหน่ายในซูเปอร์มาเก็ต
  • เนื้อสัตว์สดที่ไม่ผ่านการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใด เช่น ปลาทั้งตัว ไก่ทั้งตัว
  • เนื้อสัตว์สด ที่ผ่านการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย และผู้ตัดแต่งจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค

กรณีต้องแสดงฉลาก 

  • เนื้อสัตว์สด ที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย และส่งไปจำหน่ายสถานที่ต่าง ๆ
  • เนื้อสัตว์สดในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายที่ผู้ประกอบการต้องการแสดงฉลาก ทั้งนี้ การแสดงฉลากทั้งสองกรณี อย่างน้อยต้องแสดงข้อความ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ 1
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ

สำหรับการโฆษณาคุณประโยชน์ และคุณภาพอาหารสด ต้องขออนุญาตและห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร

ส่วนการใช้คำว่า ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์, ผลิตภัณฑ์อินทรีย์, ออร์กานิก, ออร์แกนิค หรือ organic อาหารนั้นจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ หรือหน่วยงานเอกชนที่รัฐรับรอง เช่น เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM (The International Federation of Organic Agriculture Movements)

กรณีการใช้คำว่า premium /Gold/ Special/ Extra/ Supreme/ Selected หรือข้อความในทำนองเดียวกัน ต้องมีหนังสือชี้แจงเกณฑ์คุณภาพของบริษัทผู้ผลิต รวมถึงการโฆษณาไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง

ทั้งนี้หากไม่ขออนุญาตโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หากโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีแสดงฉลากไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

หากสงสัยว่ามีการกระทำฝ่าฝืนเรื่องฉลากและโฆษณาอาหาร แจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo