Green Energy

‘เงินเฟ้อสีเขียว’ ต้นตอ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ก้าวถอยหลัง ‘เปลี่ยนผ่านพลังงาน’

การที่อินโดนีเซีย ประกาศลดเป้าหมายในเรื่องพลังงานหมุนเวียน เมื่อเร็วๆ นี้ ตอกย้ำถึงความท้าทายที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญอยู่ ในการลดคาร์บอน ท่ามกลางความกังวลเรื่อง “เงินเฟ้อสีเขียว” จากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ไล่ตั้งแต่มาเลเซีย ไปจนถึงเวียดนาม

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า เมื่อเดือนมกราคม สภาพลังงานแห่งชาติอินโดนีเซีย ได้ประกาศแผนลดเป้าหมายสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ในพลังงานผสมหลักของประเทศลงเหลือ 17%-19% ภายในปี 2568 และเหลือ 19%-21% ภายในปี 2573 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายว่า จะให้มีสัดส่วน 23% ภายในปีหน้า และจะให้มีสัดส่วนมากถึง 70% ภายในปี 2603 โดยให้เหตุผลว่า เป็นเป้าหมายที่ยากเกินจะทำได้ ซึ่งปัจจุบัน อินโดนีเซียมีการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศเพียง 13% ของการใช้พลังงานทั้งหมดเท่านั้น

เงินเฟ้อสีเขียว

การลดเป้าหมายดังกล่าว ยังเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่กระทรวงพลังงานอินโดนีเซีย ระบุว่า จะเลื่อนการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ไปจนถึงปี 2569 ซึ่งแต่เดิมนั้น ภาษีดังกล่าวถูกกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565

เบื้องหลังการถอยหลังข้างต้น คือ ความกังวลที่เพิ่มขึ้นถึง “ต้นทุน” ของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายยิบรัน รากาบูมิง บุตรชายประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ว่าที่รองประธานาธิบดีคนใหม่ เคยกล่าวระหว่างการหาเสียงในเดือนมกราคมว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างมาก ไม่ควรสร้างภาระให้กับประชาชน คนยากจน ด้วยการวิจัยและพัฒนา และต้นทุนการเปลี่ยนผ่าน ที่มีราคาแพง

ความคิดเห็นดังกล่าว จุดชนวนให้เกิดความกังวลถึงเรื่อง “เงินเฟ้อสีเขียว” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกทิ้ง เพื่อไปหันไปใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ที่มีราคาแพงกว่า

ไม่ใช่แค่อินโดนีเซียเท่านั้น แต่ต้นทุนในระดับสูง ของการเปลี่ยนถ่ายสู่ “พลังงานสีเขียว” นี้ ยังบั่นทอนความพยายามของมาเลเซีย ในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เนื่องจากต้องนำเข้าชิ้นส่วน และอุปกรณ์ ซึ่งมีราคาแพงมากขึ้น เพราะเงินริงกิตอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

มาเลเซียได้เริ่มใช้แนวทางที่ค่อนข้างทะเยอทะยานในการลดการปล่อยคาร์บอน โดยเปิดตัวโครงการสำคัญ 10 โครงการตามแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะสร้างการลงทุนประมาณกว่า 25,000 ล้านริงกิต ภายในปี 2573 รวมถึงการก่อสร้างเขตพลังงานหมุนเวียนด้วย

อย่างไรก็ตาม ฟาดิลเลาะห์ ยูซุฟ รองนายกรัฐมนตรี เตือนว่าการจัดหาเงินทุนสำหรับเทคโนโลยีสีเขียวอาจมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุน “อาจระวังความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ”

ขณะที่ นิค นาซมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียจำเป็นต้องลงทุนจำนวนมากในด้านพลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

“กระทรวงตระหนักดีว่าสกุลเงินที่อ่อนค่าลง จะทำให้มีการนำเข้าเทคโนโลยี อุปกรณ์ และความเชี่ยวชาญที่จำเป็นสำหรับโครงการกำจัดคาร์บอนขนาดใหญ่มีราคาแพงขึ้น”

เงินเฟ้อสีเขียว

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ ปรากาช ชาร์มา รองประธานฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ วูด แมคเคนซี บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน  ที่ระบุว่า ความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีอยู่จริง

เขาบอกด้วยว่า สภาพแวดล้อมระดับมหภาค มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึง แรงกดดันด้านซัพพลายเชน เงินเฟ้อ ต่างส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนค่อนข้างมาก อันเป็นสถานการณ์ ที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในรายงานที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั้น ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ระบุว่า ประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการลดคาร์บอน เนื่องจากภาษีคาร์บอนถูกเรียกเก็บจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ควบคู่ไปกับราคาโลหะ และแร่ธาตุที่สูงขึ้น จากความต้องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนสีเขียวอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

แม้รายงาน จะระบุว่า สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในวงจำกัด แต่สำนักงานเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า สิงคโปร์เผชิญกับข้อจำกัดในการมองหาแหล่งพลังงานสีเขียว เนื่องจากประเทศมีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานในวงกว้างได้

ขณะประเทศที่เชื่อกันว่า จะเป็นผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ที่มีมากกว่า 19 กิกะวัตต์ มากกว่าสองเท่าของกำลังการผลิตที่เหลือของทั้งภูมิภาค อย่าง เวียดนาม ก็มีรายงานถึงการนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 217% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อเทียบเป็นรายปี เพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสะอาดแพงขึ้น และเวียดนามก็มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วยกัน

การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ล่าช้าลงนั้น ทำให้เวียดนามมีความยากลำบากมากขึ้น ในการเพิ่มโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ให้กับโครงข่ายไฟฟ้าที่มีภาระมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาล ยุติการจ่ายค่าธรรมเนียมในระดับสูง ให้กับผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้

เงินเฟ้อสีเขียว

ทั้งนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาค ที่ใความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น น้ำท่วม พายุไซโคลนเขตร้อน คลื่นความร้อน และความแห้งแล้ง

และแม้ว่ารัฐบาลชาติต่าง ๆ จะให้คำมั่นถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสีเขียวอื่น ๆ เช่น โครงการอุดหนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลไทย แต่ประเทศต่างๆ ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน

ปัจจุบัน เริ่มมีการตั้งคำถามถึงชะตากรรมของ Just Energy Transition Partnership ซึ่งเป็นโครงการจัดหาเงินทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ต้องการระดมทุนรวมกัน 35,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของอินโดนีเซียและเวียดนาม และเป็นโครงการที่ตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างมาก เพราะยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ นับแต่ประกาศออกมาในปี 2565

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo