Environmental Sustainability

‘ปานปรีย์’ ชี้ ไทยต้อง ‘เปลี่ยนผ่านพลังงาน’ มุ่งสู่ ‘เศรษฐกิจ-สังคม’ สีเขียว บรรลุเป้า Net Zero ปี 2065

“ปานปรีย์” ระบุ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็น 1 ในวิกฤติของโลก ที่นานาประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข ชี้ ไทยจําเป็นต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศ เพื่อตอบสนองต่อความมุ่งมั่นของประชาคมโลก และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจ และสังคม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ The Bangkok Insight ฉลองก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 จัดเสวนาในหัวข้อ “Thailand Net Zero Target: Readiness and Challenges” โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Thailand Net Zero Strategy 2065”

เปลี่ยนผ่านพลังงาน

นายปานปรีย์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็น 1 ใน 3 วิกฤติของโลก นอกเหนือจากปัญหามลพิษ และการสูญเสียความหลากหลาย ทางชีวภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และการดําเนินชีวิตของประชาชน ในหลายมิติ และไม่มีประเทศ หรือหน่วยงานใดสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลําพัง แต่ต้องอาศัยความพยายาม และความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไข และรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ก็จะยิ่งส่งผลกระทบอยางรุนแรงต่อคนรุ่นต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อน นโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระดับประเทศ และการส่งเสริมความร่วมมือกับนานาประเทศ ผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero

นายปานปรีย์ ระบุว่า 3 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องกล่าวถึง คือ ภูมิรัฐศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาประเทศกับการปกป้องสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) และ จุดยืนของไทยในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภูมิรัฐศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โลกกําลังเผชิญกับความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ จากการแข่งขันระหว่างมหาอํานาจ โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐ สถานการณ์เปราะบาง และความขัดแย้งทางอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัสเซีย กับยูเครน อิสราเอล กับกลุ่มฮามาส ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในทุกมิติ รวมถึงความมั่นคงทางด้านพลังงาน

ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อ ความพยายามของประชาคมโลกในการปกป้องสภาพภูมิอากาศ และอาจเป็นตัวแปร สําคัญที่จะชะลอการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ท่ามกลางบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความผันผวน และยากต่อการคาดการณ์นี้ การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นมิตร และมีความยืดหยุ่นของไทย จึงมีความสําคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อคํานึงว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก ที่ทุกประเทศต้องเผชิญ และแก้ไขร่วมกัน

เปลี่ยนผ่านพลังงาน

หลายประเทศยังได้นำนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศมาเชื่อมโยงกับประเด็นเศรษฐกิจ เช่น การใช้มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM (ซีแบม) เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะในประเทศกําลังพัฒนา ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้น การดําเนินนโยบายการทูตของไทย จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งด้านการค้า และการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และการเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการปกป้องสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ประชาคมโลกตระหนัก และยอมรับว่า การปกป้องสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นปัจจัยสําคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น ทุกประเทศจึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ตามหลักการ ความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่างกัน (Common But Differentiated Responsibilities หรือ CBDR) โดยขึ้นอยู่กับบริบท และขีดความสามารถของแต่ละประเทศ

ส่วนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ถือเป็นหัวใจสําคัญของ การปกป้อง และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นที่น่ายินดีที่ ในการประชุม COP28 เมื่อปลายปีที่แล้ว ประเทศต่าง ๆ สามารถกําหนดเป้าหมายด้านพลังงานร่วมกัน ทั้งการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 3 เท่า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากการใช้พลังงานถ่านหิน นับเป็นความก้าวหน้าที่สําคัญในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลก

ประเทศไทย จึงจําเป็นต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานภายในประเทศ เพื่อตอบสนองต่อความมุ่งมั่นของประชาคมโลก และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจ และสังคม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคํานึงถึงความกินดีอยู่ดี และสุขภาพที่ดีของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ไทยได้ใช้โอกาสจากการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ด้วยการเสนอตัวเป็นทางเลือกของที่ตั้งฐานการผลิตของนักลงทุน โดยเฉพาะจากสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประสงค์จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน

เปลี่ยนผ่านพลังงาน

รัฐบาลจึงได้สร้างสภาพแวดล้อม และบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้า และการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อมุ่งสร้าง การเติบโตผ่านนวัตกรรม (Innovation-driven growth)

ความท้าทายอีกประการหนึ่ง เกิดจากการที่บริษัทต่างประเทศหลายแห่งได้กําหนดเงื่อนไขการลงทุน ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทน 100% ในการผลิต ดังนั้น ไทยจึงจําเป็นต้องให้ความสําคัญกับ เพิ่มกําลังการผลิตพลังงานทดแทน และ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อให้อยู่ในจอเรดาร์ของอุตสาหกรรมเป้าหมายจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศร่วมกับการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2065 ประเทศไทยต้องติดตามมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อรู้เท่าทัน และไม่ตกกระแสที่บางประเทศอาจใช้มาตรการด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ มาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า

เช่น การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กําลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสร้างกลไกรองรับที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในไทย และมีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศ

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งดําเนิน นโยบายเศรษฐกิจสีเขียว ที่ใช้เป็นทั้งมาตรฐาน และเงื่อนไขใหม่ของการลงทุนระหว่างประเทศ โดยโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

รัฐบาลจึงมุ่งสนับสนุนการพัฒนา กลไกการเงินสีเขียว และภาคการเงินของไทย ให้มีความพร้อมเทียบเท่ามาตรฐานโลก และสามารถเป็นทั้งแรงผลักดัน และแรงจูงใจให้ ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ และขนาดย่อม หันมาเริ่มการเปลี่ยนผ่านสีเขียวในธุรกิจของตน เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

เปลี่ยนผ่านพลังงาน

ปัจจุบัน ไทยได้ริเริ่มพัฒนากลไกเศรษฐกิจสีเขียว เช่น โครงการ Thailand Taxonomy ที่มุ่งกระตุ้นให้ภาคธนาคาร ส่งเสริมภาคธุรกิจของไทยให้ดําเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ที่มุ่งส่งเสริมโดยผู้ลงทุนสามารถนํายอดไปหักภาษีเงินได้

และ หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked bonds) ที่มุ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและภาครัฐระดมทุน สําหรับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกลไกเหล่านี้เป็นฐานที่จะสามารถต่อยอดและขยายผลจากความสําเร็จสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศต่อไป

ในฐานะที่กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ กว่า 90 แห่งทั่วโลก เป็นหน่วยงานด้านหน้าของประเทศไทยในต่างประเทศ จึงได้เร่งดําเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมดุล เพื่อเปิดประตูการค้า โดยยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ และมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

นายปานปรีย์ บอกด้วยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของการทํางานของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตนเอง ได้พบหารือกับผู้นํา รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และการต่างประเทศ ของหลายประเทศ เพื่อเจรจาการเปิด และเพิ่มการค้า การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ที่ส่งเสริมการปกป้องสภาพภูมิอากาศ

ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) รอบใหม่ กับสหภาพยุโรป และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) โดยเน้นส่งเสริมการค้าที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบาย IGNITE Thailand ตั้งเป้าหมายการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อสร้าง EV Ecosystem ที่สมบูรณ์ในประเทศ และเตรียมความพร้อมสําหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เครื่องยนต์ไฮโดรเจน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตด้วย

เปลี่ยนผ่านพลังงานภายในประเทศ

จุดยืนของไทยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวทีระหว่างประเทศ โดยเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ (UNFCCC) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (Paris Agreement)

นอกจากนี้ ยังส่งผู้แทนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมติดตาม และกําหนดนโยบายในเวทีการประชุม ระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศอย่างสม่ําเสมอ ทั้งการประชุม สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Environment Assembly) และการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP)

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลไทยจะพยายามดําเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังที่กล่าวมา แต่ก็ยังได้รับการประเมินว่า มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดประเทศหนึ่ง

โดยดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index หรือ CRI) ฉบับล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2021 ซึ่งใช้ข้อมูลสะสม 20 ปี รายงานว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงเป็นอันดับ 9 ของโลก จาก 180 ประเทศ ทําให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นานาประเทศจะเฝ้าติดตามการตาเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย

นอกเหนือ จากปัญหาโลกร้อนดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหาสําคัญ ที่ไทยกําลังประสบอยู่ขณะนี้ คือ มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงทุกวันนี้

ปัจจุบัน หน่วยงานของไทยกําลังบูรณาการกันอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งแก้ปัญหานี้ ทั้งบริบทในประเทศ ที่กําลังขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด และในกรอบอาเซียนภายใต้ความตกลงกับ ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน เพราะฉะนั้น ไทยจึงจําเป็นต้องคําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศภายในประเทศ และระหว่างประเทศควบคู่กันไป

AY8A5207

ทั้งเมื่อปีที่แล้ว ยังได้มีการตั้ง “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นับเป็นการดําเนินการที่ทันต่อเหตุการณ์ และแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดําเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

ในระยะต่อไป การจัดทํา “พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จะเป็นอีกก้าวสําคัญเพื่อให้ไทยมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจน ในการดําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุด ประเทศไทยประกาศสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวปฏิบัติที่ดีในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศร่วมก่อตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) หรือ IPEF ซึ่งมีประเทศสมาชิก 14 ประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย โดย IPEF มีเสาความร่วมมือ เรื่องเศรษฐกิจสะอาด (Clean Economy) ที่ให้ความสําคัญกับการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

บทบาทของประเทศไทยในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นทั้งผู้รับ และผู้ให้ โดยมีการดําเนินโครงการกับนานาประเทศ ผ่านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และ S&P Global Sustainability ได้ประเมิน และจัดอันดับให้ภาคเอกชนไทยจํานวน 37 บริษัท ปรากฏชื่ออยู่ใน Yearbook 2023 ซึ่งถือว่า ไทยมีจํานวนบริษัทที่ได้รับการบรรจุอยู่ในการจัดอันดับดังกล่าวสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก

ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีทั้งสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ และสิ่งที่ยังต้องเร่งลงมือทํา ร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้ และการร่วมมือกันอย่างบูรณาการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ในการทำให้ทําให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 เป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo