Environmental Sustainability

ครั้งประวัติศาสตร์! ‘COP27’ อนุมัติตั้งกองทุน ช่วยชาติยากจนสู้โลกร้อน

ที่ประชุม “COP27” อนุมัติข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน หลังถกเถียงกันมาหลายสิบปี

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ “COP27” ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล ชีค ของอียิปต์ บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาหลายสิบปี กระทั่งมาสำเร็จในปีนี้

COP27

รายงานข่าวระบุว่า การประชุมที่กำหนดไว้ว่าจะสิ้นสุดลงในวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 พ.ย.) ได้ยืดเยื้อออกมาจนถึงเช้าวันนี้ (20 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยผู้ร่วมประชุม ที่พากันถกเถียงกันมาตลอดทั้งคืน พากันลุกขึ้นยืนปรบมือ เมื่อข้อเสนอตั้งกองทุนเยียวยาได้รับการรับรอง เมื่อเข้าสู่เช้าวันนี้

แต่เดิมนั้น ข้อเสนอนี้แทบไม่มีการพูดถึงในวาระการประชุม แต่เริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้นในระหว่างการประชุม เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนา เดินหน้าผลักดันอย่างเต็มที่ จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศร่ำรวย ที่ก่อมลพิษ และกังวลมาโดยตลอดว่าจะต้องรับผิดชอบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

กลุ่มพันธมิตรรัฐเกาะขนาดเล็ก ที่ประกอบด้วยประเทศหมู่เกาะที่มีความเสี่ยง จะหายไปจากแผนที่โลก เพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แถลงว่า เป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่ใช้เวลาเรียกร้องนานถึง 30 ปี

เนื้อหาของข้อตกลงระบุว่า กองทุนเยียวยานี้ จะจัดสรรให้เฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ ต่อผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเนื้อหาตามที่สหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้อง

อียูยังต้องการให้ขยายฐานประเทศ ที่ต้องจ่ายเงินสดสมทบกองทุน เป็นการส่งสัญญาณว่า ต้องการให้ครอบคลุมจีน และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีฐานะดีด้วย คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านจะแก้ไขประเด็นที่ยังเป็นปัญหา และนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคอป 28 ที่ดูไบในปีหน้า

COP27

ทางด้านนายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า ที่ประชุมได้เดินหน้าไปสู่ความเป็นธรรมอย่างสำคัญ ด้วยการตั้งกองทุนเยียวยา แต่ยังไม่สามารถผลักดันเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน

แถลงการณ์ปิดการประชุมครอบคลุมเรื่องความพยายามต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และพูดเรื่องพลังงานหมุนเวียนเป็นครั้งแรก

พร้อมกันนี้ ยังย้ำเรื่องที่เคยเรียกร้องให้เร่งยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน และการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ไม่ได้มีเป้าหมายใดไกลไปกว่าที่ประชุมคอป 26 ที่กลาสโกว์ของสกอต์แลนด์เมื่อปีก่อน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo