Environmental Sustainability

ครั้งแรกของโลก ทส.จำลอง ‘รูปแบบ COP’ จัดประชุม ‘TCAC’ อย่างยิ่งใหญ่ 5-6 ส.ค.นี้

ครั้งแรกของโลก จำลอง ‘รูปแบบ COP’ มาจัดประชุม ‘TCAC’ อย่างยิ่งใหญ่ 5-6 ส.ค.นี้ ขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันนี้ ( 22 ก.ค.65 ) เวลา 13.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีแถลงข่าว “การจัดประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference : TCAC)”

TCAC

โดยมีนางสาวกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก รางวัล “2020 UN Global Climate Action Awards” และนางสาวอรวรา ภูริเดช ตัวแทนเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมในการแถลงข่าว ท่ามกลางผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ ตัวแทนภาครัฐ และเอกชน สื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

TCAC

ครั้งแรกของโลก จำลองรูปแบบการประชุม COP มาจัดในระดับประเทศ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เปิดเผยว่า การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 ส.ค. 2565 ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

TCAC

รวมถึง เพื่อเป็นการจำลองรูปแบบของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP โดยย่อส่วนการนำเสนอเป้าหมาย และทิศทางการทำงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศ มาเป็นแต่ละจังหวัดของประเทศไทย

และเพื่อให้ประชาชน และกลุ่มเป้าหมาย เกิดความตระหนักรู้ มีความเข้าใจ ให้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

การประชุม TCAC ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่จำลองรูปแบบการประชุม COP มาดำเนินการจัดในระดับประเทศ โดยกำหนดภายใต้แนวคิด “อนาคตไทย อนาคตโลก : โอกาสและความรับผิดชอบ” หรือ Our Future, Our Responsibility, Our Opportunity ซึ่งต้องการสื่อความหมายในเจตนารมณ์ที่พร้อมจะยกระดับ การแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ด้วยทุกวิถีทางเพื่ออนาคตของลูกหลาน

และเป็นโอกาสเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบูรณาการและขับเคลื่อนการจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

TCAC

กิจกรรม แบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ

รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมสำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง พิธีเปิด ในวันที่ 5 ส.ค. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เป้าหมาย Net zero 2065 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของไทยในเวทีโลก (Mission to D-emission 2065 for Thailand Sustainable Growth)” และการกล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และเอกอัครราชทูต จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ญี่ปุ่น เครือรัฐออสเตรเลีย และสมาพันธรัฐสวิส

และในฐานะ รมว.ทส. จะขึ้นกล่าวถึงความสำคัญของ TCAC “TCAC: Road to COP27 and Beyond” และการบรรยายหัวข้อ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน vs ความเป็นกลางทางกรรม (Carbon Neutrality vs Karma Sufficiency)” โดย พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโล) อธิการบดีกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก

ส่วนที่สอง เป็นการจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “อนาคตไทย อนาคตโลก : โอกาสและความรับผิดชอบ หรือ Our Future, Our Responsibility, Our Opportunity ใน 4 หัวข้อ ได้แก่

  1. Climate actions : การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  2. Climate technology : เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  3. Green and blue carbon : แหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนในธรรมชาติ
  4. Climate finance and cooperation : การเงินและความร่วมมือเพื่อสภาพภูมิอากาศ

ส่วนที่สาม การเสวนา ในประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ หัวข้อ “เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ” (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability) และหัวข้อ“ธุรกิจไทยร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Leading to Carbon Neutrality: Best Practices and Business Solutions)

TCAC

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดเพียงทางเดียว

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) นับเป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษยชาติต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงให้ได้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นทางรอดเพียงทางเดียว ที่จะรักษาโลกใบนี้ไว้ได้ โลกวันนี้ ถ้าไม่มีมนุษย์ โลกอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีโลก มนุษย์ย่อมอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันก่อน ปัญหาอื่น ๆ ก็คงไม่ต้องพูดถึง เหมือนกับที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมระดับผู้นำ COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์

“ให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลก เพราะเราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว” นายวราวุธ กล่าว

ทั้งนี้ รมว.ทส. ได้กล่าวเชิญชวน ผู้สนใจเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยการลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซต์ tcac.deqp.go.th ,facebook fanpage : Thailand Climate Action Conference – TCAC และ facebook fanpage : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถลงทะเบียนที่จุดลงทะเบียนก่อนเข้างาน หรือรับชมการถ่ายทอดสดพิธีเปิด ในวันที่ 5 ส.ค. และกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านทาง Facebook Page : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ Facebook Page : Thailand Climate Action Conference – TCAC

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo