Environmental Sustainability

‘รัฐ-เอกชน’ จับมือพัฒนาอาหารสัตว์ จาก ‘วัตถุดิบสีเขียว’ รองรับตลาดอนาคต

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย- กรมปศุสัตว์  เดินหน้าร่วมมือพัฒนา การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ ให้เข้าสู่ระบบ “วัตถุดิบสีเขียว” ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และมันสำปะหลัง  แจ้งโรงงานอาหารสัตว์ทุกแห่ง ให้ดำเนินการตามแนวทางรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใน 5 ปี รองรับความต้องการของตลาดในอนาคตอย่างยั่งยืน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตสินค้าอาหาร และการค้าโลก เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

ไร่ข้าวโพด

ปัจจุบัน ตลาดในต่างประเทศมีนโยบายที่มุ่งเน้นไปในด้านการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงื่อนไขการแข่งขันทางการค้า ที่อยู่เหนือการแข่งขันด้านราคา เช่น สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ได้ออกมาตรการเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืน อาทิ EU Green deal และ ESG: Environmental Social and Governance

ขณะที่ภาคเอกชนมักเคลื่อนไหว และบังคับใช้มาตรฐานต่าง ๆ รวดเร็วกว่าภาครัฐ อาทิ  เทสโก และ วอลมาร์ท ที่ได้ออกนโยบายเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืน โดยจะตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้า เช่น พืชวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ จะต้องไม่มาจากการทำลายป่า หากไทยไม่ปรับตัวในประเด็นนี้ให้ทันเวลา อุตสาหกรรมอาหารของไทย จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทันที

ในอนาคตสินค้าอาหารในตลาดโลก จะไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาหรือคุณภาพความปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องแข่งกัน ในจุดที่สินค้านั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

eu green

นายพรศิลป์ ระบุว่า  ที่ผ่านมา มีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และปลอดภัย (GAP) ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา และลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า เช่น โครงการไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ ซึ่งรณรงค์ส่งเสริมกันมาโดยตลอด

ดังนั้น การที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้นำในประเด็นนี้ และพร้อมที่จะเป็นแกนกลางของภาครัฐ สนับสนุนส่งเสริมให้วัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นวัตถุดิบสีเขียว ที่ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นับเป็นทิศทางที่ถูกต้อง และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกในอนาคตได้

ทั้งนี้ วัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้นทางของห่วงโซ่การผลิตอาหาร โดยสมาคมจะดำนินการร่วมกับกรมปศุสัตว์ เพื่อให้วัตถุดิบหลักทั้งสามชนิด ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และมันสำปะหลัง เข้าสู่ระบบสีเขียวทั้งหมด ภายใน 5 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2565-2570

นายพรศิลป์ ยังกล่าวถึง กรณีข้าวของชาวนาในขณะนี้ที่มีราคาตกต่ำ เนื่องจากส่งออกไม่ได้ว่า สมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย หารือร่วมกับภาครัฐ และโรงสีมาระยะหนึ่งแล้ว  สมาคมพร้อมที่จะช่วยเหลือ และยืนเคียงข้างชาวนา ด้วยการรับซื้อปลายข้าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา และนำมาทดแทนปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งสมาชิกแต่ละบริษัทได้ติดต่อประสานความร่วมมือกับโรงสีข้าวแล้วหลายแห่ง

ข้่าว

“จริง ๆ แล้ว ข้าว เป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ไม่ใช่วัตถุดิบทดแทน และข้าวถือเป็นวัตถุดิบ ที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ง่ายกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะที่นาส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม และมีเอกสารสิทธิ์แสดง ไม่ใช่พืชที่ปลูกง่ายในพื้นที่ภูเขา หรือขาดน้ำ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาข้าวให้เป็นวัตถุดิบสีเขียว จึงมีความเป็นไปได้ง่าย และน่าจะรวดเร็วกว่าพืชชนิดอื่น“

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ย้ำว่า โครงการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศให้เข้าสู่ระบบ วัตถุดิบสีเขียว จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิต โดยต้องตระหนักเสมอว่า ต่อให้ผลิตสินค้าออกมาได้ในราคาถูกเพียงใด หากมีบางข้อต่อของห่วงโซ่ ยังคงทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว สินค้านั้นก็ขายไม่ได้อยู่ดี

มัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo