Environmental Sustainability

กว่าจะได้พลังงานไฟฟ้าชีวมวล

ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประกอบกับการเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันอันส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นในอดีต รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาใช้ประโยชน์มากขึ้น

เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อม มีฐานการผลิตจากภาคเกษตรกรรม ในแต่ละปีจึงมีผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณมาก เช่น ข้าว อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง เป็นต้น การแปรรูปผลผลิตเหล่านี้ จะมีวัสดุเหลือใช้ออกมาจำนวนหนึ่ง สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวลได้

พลังงานไฟฟ้าชีวมวล

เหตุนี้รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมาตั้งแต่ ปี 2532 ตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producers: SPP) ที่มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วม โดยนำพลังงานความร้อนที่เหลือจากกระบวนการผลิต ไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบจำหน่ายของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็ก ที่ผลิตไฟฟ้าจากกากหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือ จากการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือผลิตภัณฑ์การเกษตร ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากกาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร รวมถึงขยะมูลฝอยและไม้จากการปลูกป่าเป็นเชื้อเพลิง

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานชีวภาพอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) ทั้งที่มีการเริ่มดำเนินการผลิตแล้ว ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเพิ่งเริ่มยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตดำเนินธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลดังกล่าว

โรงไฟฟ้าชีวมวล คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุต่าง ๆ ที่เป็นชีวมวล มาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หรือผลิตไอน้ำ อาจเป็นวัสดุชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมกัน เช่น โรงงานน้ำตาลใช้กากอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อย เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โรงสีขนาดใหญ่ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า การใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากการหมักน้ำเสียที่ได้มาจาก กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมหรือมูลสัตว์ (จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์) มาผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็น พลังงานไฟฟ้าชีวมวล

แต่กว่าจะได้ “พลังงานชีวมวล” หรือ “ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล” ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ไม่ใช่แค่คำนึงถึงกำลังการผลิตไฟฟ้า ที่จะได้รับจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า หรือรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้าระบบเท่านั้น แต่จำเป็นต้องวางแผนการจัดหาเชื้อเพลิง ให้เพียงพอต่อขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ต้องการ และต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตไฟฟ้า

อีกทั้งยังต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย และไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ด้วย

การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละแห่ง จะต้องผ่านการกระบวนการวางแผนดำเนินการโครงการ ประกอบด้วย การประเมินราคาโครงการเบื้องต้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา แผนดำเนินการโครงการเบื้องต้น เริ่มจากการศึกษา การหาแหล่งเงินทุน การออกแบบ ข้อกำหนด การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระยะเวลาก่อสร้าง จนกระทั่งกำหนดการจ่ายไฟเข้าระบบ

พลังงานไฟฟ้าชีวมวล

ข้อควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

การพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งทางด้านเทคนิค การเงิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาศึกษา และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ดังนี้

• รายละเอียดโครงการ ได้แก่การพิจารณาคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ควรอยู่ใกล้แหล่งเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงเลื่อยไม้ และจุดเชื่อมโยงเข้าระบบไฟฟ้า หรือสถานีย่อยไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สถานที่ตั้งควรห่างจากชุมชน เพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้างและดำเนินการ ขนาดพื้นที่ที่ต้องการ รวมถึงการจัดผังพื้นที่โครงการ

• ปริมาณชีวมวล เนื่องด้วยปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้มีความสำคัญในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ดังนั้น ก่อนการเริ่มดำเนินโครงการ จำเป็นต้องศึกษาปริมาณเชื้อเพลิงอย่างละเอียด ว่ามีปริมาณชีวมวลในพื้นที่เพียงพอตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ รวมถึงราคาและค่าขนส่งของเชื้อเพลิงชีวมวลที่ส่งมาจากแหล่งต่าง ๆ

โดยควรพิจารณาความเสี่ยงด้านราคาของชีวมวล เนื่องจากชีวมวลเป็นผลผลิตทางการเกษตรชนิดหนึ่ง ที่ราคาจะเปลี่ยนแปลงตามอุปสงค์-อุปทาน และตามฤดูกาลผลผลิต ทำให้ขาดความสม่ำเสมอตลอดทั้งปี

ทางแก้ไข คือ การสำรองเชื้อเพลิงชีวมวลไว้จำนวนหนึ่ง ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อนำมาไว้ใช้ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวหรือหาเชื้อเพลิงชีวมวลอื่น ๆ เข้ามาเสริมหรือทดแทนเชื้อเพลิงหลัก รวมถึงการทำสัญญากันระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อช่วยในการจัดหาเชื้อเพลิง

• เทคโนโลยี ประกอบด้วยการพิจารณาเทคโนโลยีกำลังการผลิต ที่เหมาะสมกับระบบการผลิตไฟฟ้า ระบบการผลิตไอน้ำ การใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ข้อกำหนดเบื้องต้นของอุปกรณ์ ที่เหมาะกับเชื้อเพลิงชีวมวลแต่ละชนิดที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิง จนถึงระบบสายส่งไฟฟ้ากับจุดเชื่อมโยงเข้าระบบไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

• การศึกษาทางด้านแหล่งน้ำ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้น้ำในระบบการผลิต ทั้งในรูปแบบน้ำป้อนหม้อไอน้ำ และน้ำหล่อเย็น ดังนั้นจะต้องศึกษาว่ามีแหล่งน้ำในโครงการ เช่น แหล่งน้ำผิวดิน จากแม่น้ำ ลำธาร คลอง หรือแหล่งน้ำใต้ดิน ว่ามีปริมาณที่เพียงพอเพื่อใช้ในการผลิต เก็บข้อมูล และวิเคราะห์คุณภาพน้ำ แผนเบื้องต้นการส่งน้ำดิบ

ตลอดจนวิธีการที่จะใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบจากแหล่งเหล่านี้ เพื่อใช้ในการผลิตปริมาณน้ำที่ต้องใช้ต่อวันประมาณ 120 ลูกบาศก์เมตร ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์

• การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 สถานะ ของแข็ง ของเหลว และอากาศ

• การกำจัดขี้เถ้า วิธีการเคลื่อนย้าย เก็บ และกำจัดของเสียจากบริเวณโครงการ โดยไม่มีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขี้เถ้าแกลบจะมีปริมาณถึง 16% โดยน้ำหนัก

• การกำจัดน้ำเสียที่เกิดขึ้น จะต้องนำมาบำบัดโดยกรรมวิธีที่เหมาะสม และหาแนวทางการระบายน้ำเสียออกจากโรงไฟฟ้า

• มลสารที่ปล่อยออกทางอากาศ มลสารจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนใหญ่ประกอบด้วย ฝุ่นละออง และไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และอื่น ๆ จะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

• ระยะห่างที่เหมาะสมจากชุมชน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาล ที่จะไม่สร้างผลกระทบ และรบกวนชุมชน

• การวางแผนดำเนินการโครงการ ประกอบด้วยการประเมินราคาโครงการเบื้องต้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และการบำรุงรักษา การสร้างความสัมพันธ์และมีส่วนร่วมของชุมชน แผนดำเนินการโครงการเบื้องต้น เริ่มจากการศึกษา หาแหล่งเงินทุน ออกแบบวิศวกรรม และข้อกำหนด จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระยะเวลาก่อสร้าง จนกระทั่งการกำหนดการจ่ายไฟเข้าระบบ

องค์ประกอบหลักของโรงไฟฟ้าชีวมวล

อีกสิ่งที่สำคัญคือ การออกแบบ หรือ คัดเลือกเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทเชื้อเพลิงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงต้องคำนึงถึงวงเงินการลงทุน ของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วย

พลังงานไฟฟ้าชีวมวล

ระบบการผลิตพลังงานความร้อน และ พลังงานไฟฟ้าชีวมวล

ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้า โดยใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงกันอย่าง แพร่หลาย ซึ่งระบบจะมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงระดับโรงไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นพลังงาน ด้วย กระบวนการทางเคมี-ความร้อน มีระบบหลัก ๆ อยู่ 4 ระบบ คือ

1. การเผาไหม้โดยตรง (Direct-Fired)
2. การเผาไหม้โดยใช้เชื้อเพลิงสองชนิดขึ้นไป (Co-Firing)
3. แก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification)
4. ไพโรไลซิส (Pyrolysis)

การผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล หรือพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล วิธีที่โรงไฟฟ้าชีวมวลเลือกใช้กันมากที่สุด ได้แก่ระบบการเผาไหม้โดยตรง โดยนําเชื้อเพลิงชีวมวลมาเผาไหม้ โดยนำความร้อนที่เกิดขึ้นไปใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การอบแห้ง หรือให้ความร้อยโดยตรงกับหม้อไอน้ำ (Boiler) ซึ่งไอน้ำที่ผลิตได้นี้จะถูกนําไปปั่นกังหัน ที่ต่ออยู่กับเครื่องกําเนิดไฟฟ้า

ทําให้ได้กระแสไฟฟ้าออกมา และยังสามารถออกแบบให้นําไอน้ำที่ผ่านกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้า (Condensing Turbine) มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบความร้อน ซึ่งการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าร่วมกันนี้เรียกว่า ระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Cogeneration) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงสูง

โรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง สามารถนําระบบการเผาไหม้โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเผาร่วมกับถ่านหิน (CoFiring) เพื่อเป็นการลดการปล่อยมลภาวะโดยเฉพาะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

เทคโนโลยีการเผาไหม้ชีวมวล

ในปัจจุบันเชื้อเพลิงชีวมวลถูกนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงพาณิชย์ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเชื้อเพลิงชีวมวลที่สามารถนำมาใช้ได้ มาจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่เป็นของเสียจากกระบวนการผลิต สามารถนํามาเปลี่ยนเป็นพลังงานได้หลายวิธี ได้แก่

1. การเผาไหม้โดยตรง (Direct Combustion)

2. การใช้ความร้อนสลายโมเลกุล (Thermochemical conversion) ประกอบด้วย
– กระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis)
– กระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification)
– กระบวนการลิขวิดแฟคชั่น (Liquidfaction)

3. การใช้ชีวเคมีสลายโมเลกุล (Biochemical conversion) ประกอบด้วย
– กระบวนการย่อยสลายโดยไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic digestion)
– กระบวนการหมัก (Yeast fermentation)

ส่วนประกอบหลักของโรงไฟฟ้าชีวมวล คือ หม้อไอน้ำ (Boiler) กังหันไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Steam Turbine and Generator) ระบบน้ำ (Water Treatment System) ระบบหล่อเย็น (Cooling Tower) ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ (Emission System) ระบบควบคุม (Control and Instrument) และระบบเชื่อมต่อการไฟฟ้า (Transmission Line)

ขณะที่ กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ถือว่าไม่ยุ่งยากนัก หากมีการออกแบบโรงไฟฟ้า และจัดเตรียมองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อรองรับการผลิตไว้พร้อมแล้ว โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลมีหลักการทำงานในทำนองเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทั่วไป

ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้า จะเริ่มด้วยการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำลำคลองที่มีการขออนุญาตไว้ หรือแหล่งน้ำที่เตรียมไว้ นำไปผ่านกระบวนการกรอง เพื่อเป็นน้ำประปาใช้ภายในโรงงาน เติมน้ำเข้าไปในระบบหล่อเย็น และนำไปขจัดแร่ธาตุเพื่อส่งผ่านไปใช้ยังหม้อไอน้ำ

ขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวลต่าง ๆ จะถูกลำเลียงจากลานกองด้วยสายพานต่อเนื่อง เข้าสู่เครื่องเพื่อบดให้ละเอียด ก่อนส่งเข้าเตาเผาไหม้เพื่อให้ความร้อนในระดับสูง ความร้อนที่ได้จะช่วยให้น้ำในหม้อไอน้ำ (Boiler) กลายสภาพเป็นไอน้ำ

จากนั้นไอน้ำแรงดันสูงนี้ จะทำหน้าที่หมุนกังหันไอน้ำ (Turbines) ซึ่งต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้น ไอน้ำที่ผ่านเครื่องกังหันไอน้ำแล้ว ยังคงมีความร้อนเหลืออยู่จะถูกนำไปผ่านเครื่องควบแน่น (Condenser) เพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำแล้วนำกลับมาเติมหม้อไอน้ำ (Boiler) เพื่อผลิตไอน้ำไปใช้ในระบบอีกครั้ง ส่วนน้ำหล่อเย็นที่รับความร้อนมาจากเครื่องควบแน่น (Condenser) จะถูกส่งไปยังหอหล่อเย็น (Cooling Tower) เพื่อระบายความร้อนและนำกลับมาหมุนเวียน เพื่อเป็นน้ำหล่อเย็นในระบบอีกครั้ง

ขณะที่ไอร้อนและขี้เถ้าลอยที่ได้จากการเผาชีวมวล จะถูกนำไปผ่านเครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตแรงสูง (Electrostatic Precipitator: ESP) เพื่อดักจับฝุ่นก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก โดยขี้เถ้าที่ถูกเก็บกักไว้ในเครื่องดัก จะถูกลำเลียงบรรจุลงรถขนส่งขี้เถ้า หรือ บรรจุถุงที่คุณภาพ แข็งแรง และปิดมิดชิด เพื่อนำส่งลูกค้า เช่น อุตสาหกรรมเกษตรใช้เป็นวัสดุปรับคุณภาพดิน อุตสาหกรรมซีเมนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น

หลักการพื้นฐานของการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ไม่มีความต่างกันมากนักสำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับเชื้อเพลิงชีวมวล ที่นำมาใช้และวัตถุประสงค์ของโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่

นอกจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้แล้ว ที่สำคัญคือ ขั้นตอนต่าง ๆ ในการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ อีกทั้งการบริหารโรงไฟฟ้า ที่มีทั้งเรื่องประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การสร้างการมีส่วนร่วม และความสัมพันธ์กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

พลังงานไฟฟ้าชีวมวล

การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล

ต้นทุนและแหล่งเงินทุน การคำนวณหาผลการตอบแทนการลงทุนของโรงไฟฟ้า โดยการประเมินรายได้จากการผลิตไฟฟ้าที่ขายให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และลูกค้าอื่น รวมถึงรายได้อื่นที่เกิดจากโรงไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของรายได้และราคา ว่าจะมีการเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด รวมถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการดำเนินการโครงการ เช่น เงินทุนของผู้ประกอบการ การสนับสนุนจากภาครัฐ ดอกเบี้ย เงินกู้ แหล่งเงินทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทสและต่างประเทศ เป็นต้น

การทำความเข้าใจกับชุมชน เปรียบเสมือนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าใบหนึ่งที่สำคัญมาก ผู้ประกอบการควรทำการศึกษาผลกระทบต่อชุมชน จากการสร้างโรงไฟฟ้าและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความยอมรับแก่ประชาชนทั่วไป ขั้นตอนนี้นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ที่ต้องดำเนินการก่อนเริ่มโครงการและทำอย่างต่อเนื่องจนโรงไฟฟ้ายุติการผลิตไฟฟ้า

ดังจะเห็นตัวอย่างจากบางโครงการ ที่ได้ดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ และก่อสร้างโครงการไปบ้างแล้ว แต่ได้รับการต่อต้านจากชุมชน จนโครงการต้องล้มเลิก

การออกแบบโรงไฟฟ้า การออกแบบและกำหนดขนาดของอุปกรณ์เบื้องต้น เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำรายละเอียดทางเทคนิคและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยให้ลดความเสี่ยงการดำเนินการได้ ซึ่งจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับประเภทของเชื้อเพลิง และต้นทุนดำเนินการ

การติดต่อขออนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องทำการขออนุญาตหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน เพื่อขออนุญาตทั้งเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การใช้ที่ดิน และขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ หลายแห่ง รวมไปถึงการต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และกฎระเบียบอื่น ๆ

การเดินระบบและการบริหารโรงไฟฟ้า

การบริหารโรงไฟฟ้าหลังจากเริ่มดำเนินการ เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากส่วนหนึ่งของกิจกรรมทั้งหมด เนื่องจากจะมีผลต่อความสามารถในการจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า และจะส่งผลต่อต้นทุนในการดำเนินการ โดยที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ แผนซ่อมบำรุงประจำปี แผนการจัดซื้อวัตถุดิบระหว่างการดำเนินการ และแผนการจ่ายไฟฟ้า

นอกเหนือนี้การศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม ทางด้านนโยบายของรัฐ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการผลิตปริมาณชีวมวล และรายได้ของโครงการ และในกรณีที่โครงการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะต้องมี การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามแนวทางของ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงผู้ประกอบการจะต้องศึกษากระบวนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า ตามประกาศของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้จัดทำกระบวนการต่าง ๆ อย่างครบถ้วนแล้ว และยึดมั่นมาตรฐานในทุกกระบวนการ ก็มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล การผลิต พลังงานไฟฟ้าชีวมวล จะเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมาย ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเจ้าของโรงไฟฟ้า ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้า อีกทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลยังมีส่วนช่วยประเทศประหยัดค่าใช้จ่าย จากการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight