Environmental Sustainability

เมกะเทรนด์พัฒนายั่งยืน เชื้อเพลิงชีวมวลเป็นทางเลือกใหม่

ภูมิทัศน์ด้านพลังงานในโลก กำลังพลิกโฉมไปอย่างมาก นับจากอดีตที่มีวิวัฒนาการด้านการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิง มาจากไม้และวัสดุทางธรรมชาติ จนพัฒนามาเป็นการใช้ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์

เมกะเทรนด์ชีวมวลโลก ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนที่มีใช้ไม่รู้หมด กำลังกลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีก้าวไปไกลมาก รวมถึงกฎระเบียบใหม่ด้านพลังงาน และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีความวิตกกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

เมกะเทรนด์ชีวมวลโลก

กระแสวิตกเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่มีมาอย่างยาวนาน ผลกระทบที่มีความชัดเจน และทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายประเทศทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียน และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีราคาลดลง และเริ่มแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล

จากสภาพภูมิอากาศที่มีการแปรปรวน และเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก นับเป็นความท้าทายของโลกในยุคปัจจุบัน แนวทางแก้ไขที่สำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้การใช้พลังงานหมุนเวียน และการปรับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อนำมาทดแทน หรือลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล กลายเป็นทางออกที่สำคัญ

เมกะเทรนด์ชีวมวลโลก

เมกะเทรนด์ชีวมวลโลก พลังงานทางเลือกใหม่เพื่อการพัฒนายั่งยืน

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) คาดการณ์ว่าประชาคมโลก ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในช่วงเวลาประมาณ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562-2583 สัดส่วนเชื้อเพลิงเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าจะเปลี่ยนไปอย่างมากจากช่วง พ.ศ. 2543-2562 โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะแซงหน้าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

โดย สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะลดลงอย่างมาก จากเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้า จะมีราคาถูกกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และคาดการณ์ต่อไปด้วยว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาจมีสัดส่วนถึง 80% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก ในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยพลังงานแสงอาทิตย์จะมีสัดส่วนมากที่สุด

นอกจากนี้ พลังงานทดแทนที่สำคัญ คือ พลังงานชีวมวล จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแหล่งกำเนิดมาจากหลายแหล่ง ทั้งป่าไม้ ภาคเกษตร และเศษวัสดุเหลือใช้ โดย สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ประเมินว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล จะเพิ่มขึ้น 47% จาก 504,000 ล้านหน่วย เป็น 743,000 ล้านหน่วย ในปี 2583

เชื้อเพลิงชีวมวลนับว่ามีบทบาทสำคัญ ในการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบพลังงานใหม่ เพราะเชื้อเพลิงชีวมวล ยังมีศักยภาพสูง ในแต่ละปีพืชนำพลังงานแสงอาทิตย์ 4,500 เอ็กซะจูล และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 120,000 ล้านตันจากชั้นบรรยากาศ ผ่านขบวนการสังเคราะห์แสงเปลี่ยนเป็นชีวมวล คิดเป็น 8 เท่าของการใช้พลังงานทั่วโลก ซึ่งยังมีชีวมวลอีกปริมาณมหาศาลที่ยังรอการเปลี่ยนมาเป็นพลังงาน

เช่นเดียวกับ สมาคมชีวมวลโลก (World Bioenergy Association: WBA) ประเมินว่าการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลทั่วโลกจะมีความสำคัญมากขึ้น แต่เชื้อเพลิงจะมีความยั่งยืนในการใช้เป็นพลังงานได้ ปัจจัยสำคัญ คือ ที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีความสำคัญมาก

ศักยภาพของการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อใช้เป็นพลังงาน จึงขึ้นอยู่กับที่ดินเพื่อการเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ แต่ปัจจุบันหลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากทะเลทราย ที่ขยายตัวรุกเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูก บางพื้นที่มีปัญหาจากการใช้ประโยชน์มากเกินไปจนที่ดินเสื่อมสภาพ และในหลายประเทศเกิดจากการพัฒนาของเมืองรุกพื้นที่เกษตรอย่างไม่มีการควบคุม ดังนั้นความท้าทาย คือ จะปกป้องพื้นที่ดินเพื่อการเกษตร พื้นที่ป่า ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้อย่างไร นับเป็นโจทย์สำคัญ หากเราหวังพึ่งพาเชื้อเพลิงจากชีวมวล เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงจากพลังงานฟอสซิล ที่กำลังสร้างปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อนที่แพร่กระจายไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก

เมกะเทรนด์ชีวมวลโลก

เมกะเทรนด์ชีวมวลโลก ที่ดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตชีวมวลทั่วโลก

สมาคมชีวมวลโลก ประมาณการว่า ที่ดินที่มีความสมบูรณ์ เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตชีวมวลทั่วโลก มีขนาดประมาณ 13,019 ล้านเฮกเตอร์ โดยใช้ประโยชน์เป็นที่ดินเพื่อการเกษตรประมาณ 37% หรือ ประมาณ 4,922 ล้านเฮกเตอร์ และพื้นที่ป่า 30% หรือ ประมาณ 4,002 ล้านเฮกเตอร์ โดยไม่นับรวมทะเลสาบและแม่น้ำ

ที่ดินเพื่อการเกษตรมีทั้งหมด 4,922 ล้านเฮกเตอร์ ใช้ไปกับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ถั่วเหลือง และพืชชนิดอื่น ๆ มีประมาณ 1,396 ล้านเฮกเตอร์ คิดเป็น 28.36% ในขณะที่พื้นที่ปลูกพืชถาวร เช่น สวนผลไม้ ไร่องุ่น และ ไร่มะกอก มีพื้นที่ประมาณ 164 ล้านเฮกเตอร์ คิดเป็น 3.33% แต่พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ถูกใช้ในปศุสัตว์ เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยมีพื้นที่ถึง 3,362 ล้านเฮกเตอร์ คิดเป็น 68% ของที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งหมด

ส่วนที่ดินประเภทอื่น ๆ ที่เหลือมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,075 ล้านเฮกเตอร์ เป็นเขตเมือง รวมถึงถนน ทางรถไฟ และสนามบิน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่มีน้ำแข็งปกคลุมและทะเลทราย โดยพื้นที่ทะเลทรายมีขนาดใหญ่ที่สุดในที่ดินกลุ่มนี้

แต่การใช้ที่ดินกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง โดย สมาคมชีวมวลโลก รายงานว่าในช่วงปี 2543-2548 มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นปีละ 5.7 ล้านเฮกเตอร์ มาจากป่าปลูก และป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทางการเกษตรมาก่อน ในแต่ละปีจะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นมากกว่าการสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 2-3 เท่า โดยพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ยังเกิดจากการฟื้นฟูที่ดินที่เสื่อมสภาพ เช่น ที่เกิดขึ้นในจีน แต่การบุกเบิกพื้นที่ทางการเกษตรก็มีเพิ่มขึ้น ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2035 คาดว่าพื้นที่การเกษตรประมาณ 5% หรือประมาณ 240 ล้านเฮกเตอร์ จะนำมาใช้เพื่อปลูกพืชพลังงาน ทั้งที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับผลิตไฟฟ้า

สมาคมชีวมวลโลก ประเมินว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลจากเกษตรกรรม ป่าไม้ และขยะ จะเพิ่มเป็น 150 เอ็กซะจูล เทียบเท่ากับน้ำมันดิบ 3,582 ล้านตัน โดยประมาณ 43% มาจากภาคเกษตร คือ เศษวัสดุ ผลผลิต และพืชพลังงาน อีก 52% มาจากป่าไม้ เศษวัสดุจากป่า และเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมป่าไม้ และที่เหลืออีก 5% มาจากขยะเหลือทิ้ง

เมกะเทรนด์ชีวมวลโลก

สมาคมชีวมวลโลก ระบุว่าเชื้อเพลิงชีวมวล สามารถกลายเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่พึ่งพาได้อย่างยั่งยืน จากศักยภาพพื้นที่ทางการเกษตร และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และจากนโยบายหลายประเทศสนับสนุนการใช้พลังงานชีวมวล จะทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลจาก 56.2 เอ็กซะจูล ใน พ.ศ. 2555 เพิ่มมาเป็น 150 เอ็กซะจูล ใน พ.ศ. 2578 และยิ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยมากขึ้น อาจทำให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ของการใช้พลังงานในปี พ.ศ. 2578 และขยับขึ้นถึง 100% ในอนาคต

ดังนั้นการใช้พลังงานชีวมวล ต้องอาศัยนโยบายของรัฐบาลสนับสนุน ทั้งภาคเกษตรและการทำป่าไม้ รวมถึงการสร้างเสถียรภาพด้านราคา เพื่อใช้เป็นพลังงานในภาคขนส่ง แหล่งพลังงานความร้อนและไฟฟ้า ซึ่งมาตรการภาษีที่จัดเก็บจากพลังงานฟอสซิลในอัตราสูงจะเป็นตัวเร่ง ให้เกิดการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนเร็วขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight