Environmental Sustainability

โรงไฟฟ้าชีวมวลกลางเมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

ชีวมวลเป็นพลังงานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เพราะเป็นการนำวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ผลิตพลังงาน ไม่ว่าจะเพื่อให้ความร้อนหรือกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ทำให้ชีวมวลเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุน

ในบรรดาประเทศที่นำพลังงานชีวมวลมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ประเทศกลุ่มนอร์ดิก ทางตอนเหนือของทวีปยุโรปนับว่าโดดเด่น เรื่องการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะประเทศสวีเดน

โรงไฟฟ้าชีวมวลสวีเดน

ในปี 2555 สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศสวีเดน ต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดการใช้พลังงานหมุนเวียนของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (European Union: EU) ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2552 ในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 49% แต่ประเทศสวีเดน ได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไว้เกิน 50%

รัฐบาลสวีเดนเลือกที่จะไม่ตั้งเป้าหมาย การใช้พลังงานหมุนเวียนแยกตามประเภทการใช้ แต่เลือกที่จะตั้งเป็นเป้าหมายรวมในแผนปฏิบัติการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศ (National Renewable Energy Action Plan: NREAP) ไว้ที่ 50.2% โดยแบ่งเป็นพลังงานความร้อนและความเย็นที่ 62.1% การผลิตไฟฟ้าที่ 62.9% ระบบขนส่งที่ 13.8%

นอกจากการกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน ของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (European Union: EU) แล้ว รัฐบาลสวีเดนไม่ได้ตั้งเป้าหมายเฉพาะเรื่องการใช้พลังงานชีวมวล แต่รัฐบาลสวีเดน และ สมาคมปลอดพลังงานฟอสซิล (Fossil-Free Society: FFS) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2593 ประเทศสวีเดนจะปลอดจากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล

รัฐบาลสวีเดนยังประกาศด้วยว่าอย่างน้อยในปี 2588 ประเทศสวีเดนจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และหลังจากนั้นจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นลบ (Negative Emissions: NE) และในปี 2573 จะไม่มีรถยนต์บนท้องถนนในประเทศที่จะใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล

โรงไฟฟ้าชีวมวลสวีเดน นโยบายของรัฐบาลสวีเดนสนับสนุนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทน

นโยบายของรัฐบาลสวีเดน ในเรื่องพลังงานชีวภาพค่อนข้างเติบโตช้า เริ่มพัฒนาพลังงานชีวภาพ โดยใช้พลังงานจากชีวมวล เป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียน สำหรับผลิตเป็นพลังงานความร้อนในช่วงปี 2510-2513 เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ด้วยการขึ้นภาษีน้ำมัน แต่สนับสนุนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทน

ต่อมาในปี 2534 รัฐบาลสวีเดนใช้นโยบายการเก็บภาษี จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และมีการปรับอัตราภาษีขึ้นหลายครั้ง หลังจากมีการใช้มาตรการด้านภาษี โดยเฉพาะในภาคการผลิตพลังงานความร้อน และในภาคบริการ จากนั้นก็มีการนำนโยบายภาษีนี้ ไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย นอกจากภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีการจัดเก็บภาษีพลังงาน และการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์อีกด้วย

โรงไฟฟ้าชีวมวลสวีเดน

สัดส่วนแหล่งพลังงานของประเทศสวีเดน

สัดส่วนแหล่งพลังงานของประเทศสวีเดนเมื่อปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,061 เพตะจูล (Petajoule: PJ) ส่งออกกระแสไฟฟ้า 41 เพตะจูล คิดเป็นสัดส่วน 2% เชื้อเพลิงฟอสซิลมีสัดส่วนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานทั้งหมด ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานทั้งหมด ส่วนพลังงานนิวเคลียร์มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานทั้งหมด

โดยเชื้อเพลิงจากฟอสซิลรวมถึง น้ำมันดิบมีสัดส่วน 23.8% หรือ 490 เพตะจูล ถ่านหินมีสัดส่วน 3.9% หรือ 80 เพตะจูล ส่วนใหญ่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมหนัก ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วน 1.7% หรือ 35 เพตะจูล และถ่านหินพีทมีสัดส่วน 0.3% หรือ 6 เพตะจูล

ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนถึง 37.2% หรือ 767 เพตะจูล โดยแบ่งเป็นพลังงานชีวภาพ มีสัดส่วน 23.6% หรือ 487 เพตะจูล และจากพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ มีสัดส่วน 13.6% หรือ 280 เพตะจูล ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์มีสัดส่วน 33.4% หรือ 688 เพตะจูล ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศถึง 40%) ถึงแม้สัดส่วนการใช้พลังงานนิวเคลียร์จะสูง แต่พลังงานนิวเคลียร์จะมีการสูญเสียพลังงานความร้อนสูงมาก ทำให้สัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์ลดลง ในสัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย และทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้านี้ คือในปี 2554 สัดส่วนของพลังงานจากฟอสซิลลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้น้ำมันลดลงจาก 27.7% เหลือ 23.8% การใช้ถ่านหินลดลงจาก 4.4% เหลือ 3.9% การใช้ถ่านหินพีทลดลงจาก 0.7% เหลือ 0.3% และการใช้ก๊าซธรรมลดลงจาก 2.3% เหลือ 1.7%

ในช่วงเวลาเดียวกัน สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนกลับเพิ่มขึ้นจาก 32.9% เป็น 37.2% แต่การใช้พลังงานนิวเคลียร์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 31.8% เป็น 33.4% และการส่งออกไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 1.3% เป็น 2%

โรงไฟฟ้าชีวมวลสวีเดน

โดยสัดส่วนพลังงานชีวภาพคิดเป็น 63.5% หรือ 486 เพตะจูล ของแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 765 เพตะจูล ตามมาด้วยพลังงานน้ำ 223 เพตะจูล คิดเป็น 29.3% และพลังงานลม 56 เพตะจูล คิดเป็น 7.4% ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตามจากสัดส่วนพลังงานชีวภาพในประเทศสวีเดน พบว่ามาจากชีวมวลอัดเม็ดมากถึง 81% หรือ 394 เพตะจูล ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมป่าไม้ เช่น เศษไม้ เปลือกไม้ และขี้เลื่อย และอุตสาหกรรมกระดาษ (เหล้าดำ) มีปริมาณถึง 158 เพตะจูล โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า พลังงานความร้อน

ขณะเดียวกันยังมีการนำชีวมวลอัดเม็ดจำนวน 38 เพตะจูล ไปใช้ในภาคครัวเรือน นอกจากชีวมวลอัดเม็ดแล้ว ยังมีน้ำมันไบโอดีเซลจำนวน 41 เพตะจูล ตามด้วยขยะชุมชนจำนวน 35 เพตะจูล

นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของก๊าซชีวภาพจำนวน 7.3 เพตะจูล น้ำมันไบโอเบนซินจำนวน 4.7 เพตะจูล และเชื้อเพลิงชีวภาพแบบเหลวจำนวน 3.1 เพตะจูล

โรงไฟฟ้าชีวมวลสวีเดน

โรงไฟฟ้าชีวมวลสวีเดน กลยุทธ์สำคัญของสต็อกโฮล์ม มุ่งสู่เป้าหมายเมืองปลอดฟอสซิลในปี 2583

จากการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล ทำให้ประเทศสวีเดนเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Heat and Power (CHP) ที่สามารถผลิตไฟฟ้าและความร้อนไปพร้อมกัน คือ โรงไฟฟ้า Stockholm Exergi ชื่อเดิมคือ Fortum Värme มีการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาแบบหมุนเวียน ใช้วัสดุคือเศษไม้ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,500 กิกะวัตต์ชั่วโมง

ยิ่งกว่านั้น โรงไฟฟ้าชีวมวล Stockholm Exergi โรงไฟฟ้าชีวมวลสวีเดน ยังตั้งอยู่กลางเมืองสต็อกโฮล์ม เป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตทั้งไฟฟ้าและความร้อน ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือกรุงสต็อกโฮล์ม ถือเป็นการพิสูจน์แนวคิดของการตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า และผลิตความร้อนขนาดใหญ่ จากพลังงานหมุนเวียน ในสภาพแวดล้อมที่เป็นเมือง ซึ่งต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยมีการขนลำเลียงวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงไปทางเรือและทางรถไฟ

ทุกวันนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ สามารถผลิตความร้อนป้อนความต้องการได้เกือบทั่วทั้งเมือง

สต็อกโฮล์มตั้งเป้าหมายจะเป็นเมืองปลอดพลังงานฟอสซิลในปี 2583 เป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ เพื่อสร้างระบบพลังงานที่ยั่งยืน

หากใครไปเยือนกรุงสต็อกโฮล์ม จะเห็นว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล Stockholm Exergi ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2556 และได้เริ่มผลิตไฟฟ้าและความร้อนแล้ว นับเป็นแลนด์มาร์คของเมืองสต็อกโฮล์ม ทั้งยังเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป

โรงไฟฟ้าชีวมวลสวีเดน โรงไฟฟ้า Stockholm Exergi ปรับเปลี่ยนจากถ่านหิน มาใช้เชื้อเพลิงชีวมวล

การปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าแห่งนี้มาใช้เชื้อเพลิงชีวมวล นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของเมืองสต็อกโฮล์ม ที่ต้องการจะบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนในปี 2573 ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลจะใช้เชื้อเพลิงจากป่าไม้ โดยจะเพิ่มการใช้ชีวมวลจาก 45% เป็น 70%

โรงไฟฟ้ากลางกรุงสต็อกโฮล์ม ไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญในการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน แต่ยังเป็นแบบอย่างที่สำคัญ เมื่อทั่วโลกมีความเป็นเมืองมากขึ้น และเขตเมืองขยายตัวไปเรื่อย ๆ
ตัวอย่างจากเมืองสต็อกโฮล์ม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศสวีเดน เป็นการแก้ปัญหาในเรื่องการจัดการหลาย ๆ ด้านไปพร้อมกัน ทั้งขยะ การผลิตความร้อน การผลิตไฟฟ้า และช่วยหนุนระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนให้มีความยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight