Environmental Sustainability

โมเดลขอนแก่น (KSL) โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลน้ำพอง

ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 3 ของภาค อยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง มีพื้นที่รวมกว่า 1 หมื่นตารางกิโลเมตร นับเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของไทย

พืชที่โดดเด่นของจังหวัดมี 3 ชนิดหลัก คือ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง มีพื้นที่ทำเกษตรกรรม รวมกว่า 3 ล้านไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวจำนวนกว่า 1 ล้านไร่ ปลูกอ้อย 7-8 แสนไร่ และปลูกมันสำปะหลังจำนวน 2 แสนไร่

โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง

จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผล ที่อุดมสมบูรณ์ในภาคอีสานทั้ง ข้าว และอ้อย ทำให้ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกข้าวและน้ำตาล อันดับต้น ๆ ของโลก จึงมีการจัดตั้งโรงสีข้าว และโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ จากปริมาณพืชผลทางการเกษตรดังกล่าว ก่อให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก เหมาะกับการนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล จึงทำให้เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดถึง 7 แห่ง

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลมานาน และได้ต่อยอดธุรกิจจากโรงงานน้ำตาลอย่างครบวงจร โดยมีโรงงานอีก 3 ประเภท ที่ต่อยอดจากเศษวัสดุที่เหลือจากโรงงานน้ำตาล

ภายในโรงงานน้ำตาล จะมีโรงงานเอทานอล ที่นำกากน้ำตาลมาผลิต โดยได้ผลผลิตเป็นเอทานอล 95% หรือแอลกอฮอล์ และผลที่ได้จากโรงงานเอทานอลอีกประเภทคือ ก๊าซชีวภาพ ซึ่งส่งก๊าซไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ และ โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง

โรงงานปุ๋ยอินทรีย์จะนำเศษวัสดุ คือ นำกากจากหม้อกรองโรงงานน้ำตาล มาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก และผลผลิตที่ได้จากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ก็นำไปใช้ในการปลูกอ้อย

โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง

โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง ต่อยอดธุรกิจจากโรงงานน้ำตาล

โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง ใช้เชื้อเพลิงหลักมาจาก “กากอ้อย” ที่ได้จากโรงงานน้ำตาล และใช้เชื้อเพลิงบางส่วนมาจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากโรงงานเอทานอล

สำหรับโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ได้ก่อตั้ง บริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด ขึ้นเมื่อปลายปี 2546 ตั้งอยู่ภายในโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ถนนน้ำพอง-กระนวน ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น หรือที่ชาวบ้านรู้จักในนาม โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง ดำเนินธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและผลิตไอน้ำ โดยใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยจำหน่ายไฟฟ้าพร้อมกับไอน้ำให้กับโรงงานน้ำตาล โรงงานอื่น ๆ ในกลุ่มบริษัท และมีไฟฟ้าที่เกินความต้องการของกลุ่ม สามารถจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลน้ำพอง หรือ โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 60 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 20 เมกะวัตต์ มีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี ภายใต้ รูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP FRIM) ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือป้อนโรงงานน้ำตาลของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) ที่มีโรงงานตั้งอยู่ที่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สามารถหีบอ้อยได้สูงสุดที่ 40,000 ตันต่อวัน

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ริเริ่มก่อตั้งขึ้น จากการที่บริษัท KSL ดำเนินธุรกิจน้ำตาลในพื้นที่ ซึ่งเมื่อเกษตรกรนำอ้อยเข้ามาส่งป้อนให้กับโรงงานน้ำตาล เมื่อคั้นน้ำอ้อยออกแล้ว จึงได้กากอ้อยเป็นเศษวัสดุเหลือใช้

ก่อนหน้านี้โรงงานน้ำตาลจะมีเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าอยู่แล้ว และต้องใช้กากอ้อยให้หมด ไม่เช่นนั้นจะเกิดฝุ่นจากกากอ้อย ฟุ้งกระจายไปทั่วพื้นที่ สร้างมลพิษทางอากาศ และทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อน

ต่อมาภาครัฐเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ทางโรงไฟฟ้าจึงจัดสรรงบประมาณ สำหรับจัดซื้อเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีกระแสไฟฟ้าส่วนเกินเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะสามารถขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐได้ด้วย

โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง

ยุคเริ่มแรกนั้นโรงงานน้ำตาลที่มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าด้วย ยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐเท่าที่ควร และปัจจุบันขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าในอัตราที่ประมาณ 2.89 บาทต่อหน่วย แต่ทางผู้ประกอบการ ก็พร้อมที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับภาครัฐ เนื่องจากโรงงานน้ำตาลจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะต้องนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการผลิตน้ำตาลไปกำจัดให้ถูกวิธี โดยการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจนี้ยังเป็นการจ่ายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ดังนั้นจึงมีผู้รับซื้อที่แน่นอน และไม่มีการแข่งขันกันทางการตลาด

ตลอดระยะเวลา 18 ปี ของจัดตั้ง โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง หรือ โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะนอกจากจะสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เช่น การรับซื้อใบอ้อย เศษวัสดุ และกากอ้อย ในช่วงที่ราคาดี รวมค่าขนส่ง จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อตัน นอกจากนี้ยังเป็นส่วนช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนในพื้นที่

หัวใจสำคัญที่ทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ นอกจากการใช้ เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) ที่ให้การกำเนิดพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานกล และมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ยังให้ความสำคัญกับ การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการที่สำคัญ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการลงทุนหรือพัฒนาโครงการ และใช้ผลการศึกษาเป็นข้อมูลที่จะให้ความกระจ่างต่อสาธารณชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความขัดแย้งจากการใช้ทรัพยากร

บริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด ได้จัดทำ EIA ตั้งแต่เตรียมโครงการระหว่างก่อสร้างโรงงาน และติดตามผลหลังโครงการเสร็จเรียบร้อย ซึ่งมีการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาทุก ๆ 6 เดือน

ส่วนการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าให้เกิดความยั่งยืนนั้น ยังได้กำหนด นโยบายการจัดการวัตถุดิบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการประกอบธุรกิจไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานไฟฟ้าของบริษัทที่ใช้เชื้อเพลิงหลัก คือ กากอ้อย โดยในแต่ละปี ปริมาณอ้อยเข้าหีบของบริษัทจะไม่แน่นอน

ในปีที่อ้อยเข้าหีบในปริมาณน้อย ก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณเชื้อเพลิงที่จะใช้ในโรงไฟฟ้าได้ ดังนั้น บริษัทได้มีการเตรียมความพร้อม โดยการจัดซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลจากภายนอกมารองรับ เช่น การจัดซื้อกากอ้อยจากโรงงานน้ำตาลข้างเคียง ซื้อเปลือกยูคาลิปตัส เศษไม้ เป็นต้น

ด้านนโยบายการผลิต โรงไฟฟ้าได้มุ่งเน้นการบริหารต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด โดยต้นทุนของการผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนเชื้อเพลิง และค่าเสื่อมราคา ดังนั้นการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจําเป็น

นอกจากนี้การผลิตให้มีการประหยัดต่อขนาด (Economics of Scale) ก็จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายคงที่ต่อหน่วยลงมา ตลอดจนการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ในการที่บริษัทมีเชื้อเพลิง คือ กากอ้อยเป็นของตนเอง

ดังนั้นการควบคุมคุณภาพของเชื้อเพลิงให้เหมาะสม เพื่อเกิดประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงให้ดีที่สุด เช่น การควบคุมความชื้นของกากอ้อย ผ่านระบบ Bagasse Dryer หรือ การสร้างหลังคาขึ้นปกคลุมเพื่อบังฝน เป็นต้น

นโยบายด้านการตลาด เนื่องจากการขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยมีสูตรการคํานวณ ราคาที่ตายตัว ตามราคาก๊าซธรรมชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น บริษัทจึงมีผู้ซื้อที่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตามการจําหน่ายไฟฟ้าในช่วงเวลาที่การไฟฟ้ามีความต้องการสูง ก็จะทําให้บริษัทได้รับราคาขายต่อหน่วยที่สูงขึ้น ส่วนราคาขายที่บริษัทขายให้กับบริษัทในเครือ บริษัทจะกําหนดราคาให้เท่ากับราคาขายที่บริษัทขายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ เป็นราคาขายส่ง

อีกส่วนที่สำคัญคือนโยบานด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากโครงการนี้จะผ่านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังได้รับการขึ้นทะเบียนรับรอง จากคณะกรรมการบริหารโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board) เพื่อรับการสนับสนุนให้เป็นโครงการ CDM (ตามอนุสัญญาเกียวโต โป โตรคอล) ซึ่งจะมีสิทธิในการขาย Carbon Credit ได้ หากได้รับการรับรองการตรวจนับจํานวน Carbon ที่ลดได้จากอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)

โรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำพอง

ความยั่งยืนของโรงไฟฟ้าชีวมวล นอกจากผู้ประกอบการจะสานสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการรับซื้อวัตถุดิบในราคาที่เป็นธรรมแล้ว การได้รับการสนันสนุนจากนโยบายรับซื้อไฟฟ้า ก็จะเป็นอีกส่วนสำคัญ ที่ทำให้โรงไฟฟ้ารักษาประสิทธิภาพการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความเสถียรในการจ่ายไฟฟ้า และสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าที่มั่นคงด้วย

นอกจากนี้ การดูแลชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า มีการโอนย้ายกองทุนมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เมื่อปี 2555 โดยตั้ง กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดขอนแก่น 1 จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า บริษัทโรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดขอนแก่น 1 มีเพียงโรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่นเพียงแห่งเดียว และได้ส่งเงินเข้ากองทุนปีละกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนขนาดกลาง

นับตั้งแต่ปี 2555-2563 โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลน้ำพอง หรือ โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น ได้นำส่งเงินรวมทั้งสิ้น 14.09 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า ทั้งหมด 166 โครงการ

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลน้ำพอง หรือ โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ได้รับรางวัล CSR-DW Award 2020 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน ประจำปี 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight