Environmental Sustainability

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ที่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า ทำให้ต้องมีการวางแผนและติดตามความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา เพื่อใช้ในการวางแผนผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ

เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เกิดความสมดุล เรียกว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า และรักษาระดับค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง

หากประเทศมี “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ที่เหมาะสม จะทำให้สามารถแก้ปัญหาเหตุฉุกเฉิน ที่อาจเกิดขึ้นจากระบบผลิตไฟฟ้าได้ เช่น มีโรงไฟฟ้าที่หยุดผลิต ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุ หรือการหยุดซ่อมบำรุง ก็สามารถมีไฟฟ้าใช้ได้ต่อไป โดยไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับหรือกระแสไฟตก เนื่องจากมีการดึงสำรองไฟฟ้ามาทดแทน

นอกจากนี้หาก กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง มีความเหมาะสม ก็จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะหากมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินไป ซึ่งหมายถึงมีจำนวนโรงไฟฟ้ามากเกินไป เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เนื่องจากค่าไฟฟ้าคิดรวมต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าไปด้วย ดังนั้นการมี “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ที่เหมาะสม จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ด้วยการจัดทำแผน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง

ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ประมาณการว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เมื่อสิ้นปี 2580 รวมสุทธิ 77,211 เมกะวัตต์

ประกอบด้วยกำลังผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 46,090 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าใหม่ รวม 56,431 เมกะวัตต์ และมีการปลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วง พ.ศ. 2561-2580 จำนวน 25,310 เมกะวัตต์

ตามแผน PDP 2018 Rev.1 เป็นการประเมินกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเมื่อปี 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563

บทเรียนจาก “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ต่ำเกินไป

ในอดีตประเทศไทยเคยประสบกับปัญหา “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ต่ำเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เช่น กรณีเหตุการณ์แหล่งก๊าซยาดานา สหภาพเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อซ่อมแซมแท่นขุดเจาะ ระหว่างวันที่ 5–14 เมษายน 2556 มีผลให้กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกของประเทศ หายไปจำนวน 4,100 เมกะวัตต์ ขณะที่คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในวันที่ 5 เมษายน 2556 จะมีจำนวน 26,300 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะเหลือราว 767 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานปกติ ที่ควรมี 800–1,600 เมกะวัตต์

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้วางแผน และประสานขอความร่วมมือ กับโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งการประสานงานงดจ่ายไฟฟ้าแก่โรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้อัตราไฟฟ้าแบบงดจ่ายไฟได้ (Interruptible Rate) จำนวน 56 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่สามารถปรับการผลิตลดการใช้ไฟฟ้าได้เมื่อถูกร้องขอ ทำให้สามารถเพิ่มกำลังผลิตสำรองได้

นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือ และจัดทำแผนรณรงค์ ผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความต้องการไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว ได้อีกราว 500 เมกะวัตต์ จากข้อมูลล่าสุด (11 มีนาคม 2556) ทำให้คาดว่าปริมาณสำรองไฟฟ้า ในวันที่ 5 เมษายน 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 1,323 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ควรจะมีที่ 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤติในครั้งนั้น และไม่กระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่แต่อย่างใด

ย้อนกลับไปในอดีต ประเทศไทยยังเคยประสบปัญหาภาวะสำรองไฟฟ้าต่ำ หรือ ถึงขั้นติดลบ เช่น ในสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำประเทศไทย ต้องเข้ารับการช่วยเหลือจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รัฐบาลได้ประกาศนโยบายหยุดการลงทุนในประเทศ (Zero Growth) และชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การส่งแรงงานไปตะวันออกกลาง จนเศรษฐกิจฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองลดต่ำลงถึงขั้นวิกฤติ

นายเกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการ กฟผ. สมัยนั้น (พ.ศ. 2512-2528) ต้องแก้ไขสถานการณ์ โดยเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติเร่งด่วนก่อสร้างโรงไฟฟ้าลานกระบือ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซเทอร์ไบน์ แม้ว่าโรงไฟฟ้าประเภทนี้ จะมีประสิทธิภาพต่ำ แต่มีข้อดี คือ สามารถสร้างเสร็จรวดเร็วภายใน 6 เดือน ประกอบกับก๊าซลานกระบือมีราคาถูก ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติสำรองไฟฟ้าต่ำในขณะนั้น โดยไม่มีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้า

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ที่เหมาะสม

จาก กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง สูง หรือ ต่ำ เกินไป ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ดังนั้น การมีสำรองไฟฟ้า (Reserve) จึงต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือ ที่ใช้กันเป็นไปตามมาตรฐานสากล

“สำรองไฟฟ้า” แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ

1. กำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Standby Reserve) เป็นโรงไฟฟ้าสำรองตามแผนการผลิตไฟฟ้าโดยมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด เนื่องจากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบอาทิ ความต้องการไฟฟ้าที่อาจเพิ่มสูงกว่าการพยากรณ์ การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้าการเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ข้อจำกัดของระบบส่งในแต่ละพื้นที่ และลักษณะทางเทคนิคของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท

2. กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) เป็นกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ หรือสามารถสั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ซึ่งตามมาตรฐานจะต้องมีจำนวน 800–1,600 เมกะวัตต์ หรืออย่างน้อยมากกว่ากำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้อง ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ เช่น กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ ก็สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ป้องกันปัญหาไฟตกหรือดับ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Blackout) ได้

อย่างไรก็ตาม “สำรองไฟฟ้า” ในแต่ละประเทศ มีความแตกต่างกัน ขึ้นกับเงื่อนไขและฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้า จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการค่อนข้างสูง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ศึกษาระบบการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศเอาไว้ดังนี้

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง

ประเทศเยอรมนี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 13% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบอีก 98% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 111%

ประเทศออสเตรเลีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 44% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 21% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 65%

ประเทศเดนมาร์ค มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 32% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 98% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 130%

ประเทศอิตาลี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 81% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 55% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 136%

ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 65% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 28% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 93%

ประเทศโปรตุเกส มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 65% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 65% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 130%

ประเทศสเปน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 100% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 80% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 180%
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 81% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 11% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 92%

ประเทศสวีเดน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 36% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 21% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 57%

ประเทศมาเลเซีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 47% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 4% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 51%

ประเทศจีน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 68% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 23% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 91%

ประเทศไทย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 22% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 17% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 39%

จากตัวอย่างของหลายประเทศที่มีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ล้วนแต่มีกำลังการผลิตมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของการวางแผนและการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศได้

ดังนั้นการมี กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) ในแผน PDP ซึ่งเป็นแผนผลิตกำลังไฟฟ้าของประเทศทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ หรือ กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วก็ยังจะมีไฟฟ้าใช้ เพียงพอที่จะสนับสนุนการธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เอื้อให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนการแข่งขันในเวทีโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight