Environmental Sustainability

‘โลกเดือด’ ติดอันดับ 1 ความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญในปี 2567

สภาเศรษฐกิจโลก เผยปัญหา “โลกเดือด”จาก สภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว ติดอันดับ 1 ความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญในปี 2567

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 (Global Risks Report 2024) ฉบับที่ 19 ก่อนการประชุม World Economic Forum ในช่วงวันที่ 15-19 มกราคม 2024

โลกเดือด

ทั้งนี้ รายงานนำเสนอผลการศึกษาจากการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญและผู้นำระดับโลกกว่า 1,490 คน เพื่อสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความเสี่ยงของโลก ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจและวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่สำคัญของโลกในปี 2567 ความเสี่ยงในระยะสั้น (2 ปีข้างหน้า) และความเสี่ยงในระยะยาว (10 ปีข้างหน้า)

รายงานดังกล่าว มาจากการเปรียบเทียบจากความเสี่ยง 34 หัวข้อ ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ (Economic) ด้านสังคม (Societal) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) และด้านเทคโนโลยี (Technological)

สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว ความเสี่ยงอันดับ 1 ที่โลกต้องเผชิญ 

รายงานฉบับดังกล่าว สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

1. ในปี 2567 หัวข้อ สภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว (Extreme Weather Events) เป็นความเสี่ยงอันดับ 1 ที่โลกต้องเผชิญ เนื่องจากปีนี้ คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ช่วงอุ่นขึ้นของปรากฏการณ์เอนโซ่ (El Ni?o-Southern Oscillation: ENSO) ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นและคงอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ และหัวข้อดังกล่าวยังติดอันดับ 2 ของความเสี่ยงในระยะสั้นด้วย

ภาพรวมความเสียง
ภาพรวมอันดับความเสี่ยงปี 2567

2. สำหรับความเสี่ยงในระยะยาว (10 ปีข้างหน้า) หัวข้อ สภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว ขยับจากอันดับ 3 ในปีที่แล้วสู่อันดับ 1 ในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของผู้ตอบแบบสอบถาม

ตามมาด้วยหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงขั้นวิกฤตต่อระบบโลก (Critical change to Earth system) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (Biodiversity Loss and ecosystem collapse) และ การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource shortages) ตามลำดับ

ความเสี่ยง 3
ความเสี่ยงของโลกในระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับทั้ง 4 หัวข้อดังกล่าว ล้วนเป็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ที่ยังคงครอง 4 อันดับแรกได้เหมือนปีที่แล้ว

3. ประเด็น จุดพลิกผันด้านภูมิอากาศ (Climate Tipping Point) ได้ถูกพูดถึงในรายงานเป็นครั้งแรก โดยระบุว่าหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงขั้นวิกฤตต่อระบบโลก (Critical change to Earth system) จะเป็นจุดพลิกผันที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมา เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ สภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว รวมถึงนำไปสู่การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและความรุนแรงของปัญหามลพิษ

นอกจากนี้ประเด็นดังกล่าวยังสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การโยกย้ายถิ่นฐาน ภาวะโรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

4 จุดพลิกผันด้านภูมิอากาศ

จากข้อมูลในรายงานดังกล่าวดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ในการประชุม COP28 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนเพื่อลดความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่มีความเปราะบางหรือประสบปัญหาภัยพิบัติที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงเห็นชอบการจัดตั้งเครือข่ายซานดิอาโก (The Santiago Network on Loss and Damage : SNLD) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติแก่ประเทศต่างๆ และสนับสนุนการเข้าถึงกองทุนเพื่อลดความสูญเสียและความเสียหาย

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) คือเวทีระดับโลกที่เครือข่ายผู้นำภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ของประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อระดมความคิดเห็นและสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในการแก้ไขปัญหาระดับโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo