Environmental Sustainability

สนค. แนะ เตรียมความพร้อมให้สินค้าอุตสาหกรรมไทย ช่วงสหภาพยุโรปเปลี่ยนผ่านมาตรการ CBAM

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แนะเตรียมความพร้อมให้สินค้าอุตสาหกรรมไทย ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้ติดตามสถานการณ์ นโยบาย และมาตรการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสหภาพยุโรป (อียู) ได้บังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) อย่างเป็นทางการกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอยู่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน

สหภาพยุโรป

พร้อมกันนี้ แนะนำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย เตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนปรับตัวสู่การเติบโตสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

สำหรับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ Fit For 55 ภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและขจัดข้อได้เปรียบด้านราคาของสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศที่มีมาตรฐานด้านก๊าซเรือนกระจกเข้มงวดน้อยกว่า

ทั้งนี้ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับสินค้านำเข้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนจำนวนมากในกระบวนการผลิต และมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก ครอบคลุมสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่

  • เหล็กและเหล็กกล้า
  • อลูมิเนียม
  • ซีเมนต์
  • ปุ๋ย
  • ไฟฟ้า
  • ไฮโดรเจน
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

กรอบเวลาของมาตรการ CBAM  

1. ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 ที่ผู้นำเข้าสินค้าในอียู มีหน้าที่รายงานข้อมูลรายไตรมาส อาทิ ปริมาณสินค้านำเข้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Embedded Emission)

อย่างไรก็ตาม แต่ละสินค้าจะมีชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ต้องรายงานแตกต่างกัน คือ กลุ่มเหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน รายงานเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กลุ่มปุ๋ย รายงาน CO2 และไนตรัสออกไซด์ (N2O) และกลุ่มอลูมิเนียม รายงาน CO2 และเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs)

ทั้งนี้ ผู้นำเข้าต้องยื่นขอสถานะเป็น CBAM Declarant และผู้ประกอบการไทย (ผู้ส่งออก) ต้องขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM Registry ภายใน 31 ธันวาคม 2567

2. ระยะบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดสหภาพยุโรป (ราคาอยู่ที่ประมาณ 78.23 ยูโร/ตันคาร์บอน ณ วันที่ 2 มกราคม 2567)

นอกจากนี้ หลังจากปี 2569 อาจพิจารณาขยายขอบเขตไปยังสินค้าอื่นเพิ่มเติม อาทิ เคมีภัณฑ์อินทรีย์และโพลิเมอร์

เมื่อพิจารณาสินค้าภายใต้มาตรการ CBAM พบว่า การส่งออกสินค้า CBAM ของไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2565 มีมูลค่า 479.02 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.12% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสหภาพยุโรป และเป็น 5.47% ของมูลค่าการส่งออกสินค้า CBAM จากไทยไปตลาดโลก

ขณะที่เหล็กและเหล็กกล้า มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด อยู่ที่ 369.31 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1.64% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปอียู และ 6.8% ของการส่งออกสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าของไทยไปตลาดโลก

ยุโรป1

รองลงมาเป็นอลูมิเนียม มีมูลค่าส่งออก 109.70 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.49% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปอียู และ 3.82% ของการส่งออกสินค้าอลูมิเนียมของไทยไปตลาดโลก และปุ๋ย มีมูลค่าส่งออก 0.02 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.00008% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสหภาพยุโรป และ 0.004% ของการส่งออกสินค้าปุ๋ยของไทยไปตลาดโลก)

สนค. ยังได้ติดตามสถานการณ์การเตรียมความพร้อม และการปรับตัวของประเทศไทย ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านพบว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product : CFP) ซึ่งเป็นการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถนำไปใช้วางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการดังกล่าว มีองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เป็นหน่วยงานรับรอง CFP ทั้งนี้ การจัดทำ CFP มีขอบเขตการวัดตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์และมีหลักการจัดทำข้อมูลในรูปแบบใกล้เคียงกับ Embedded Emissionผู้ประกอบการที่จัดทำ CFP จึงสามารถนำหลักการมาปรับใช้กับการรายงาน Embedded Emission ของ CBAM ได้

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมไทย มีการดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพื่อรองรับมาตรการ CBAM ที่มีสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 บริษัท โดยเป็นการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ฐานข้อมูลนี้ทำให้ประเทศไทยมีค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม สำหรับการรายงานตามกรอบ CBAM และสามารถต่อยอดปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามความคืบหน้าและศึกษารายละเอียดของมาตรการ CBAM รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบก. ส.อ.ท. และคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ กระแสความตื่นตัวของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่งผลให้มาตรการ CBAM เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สร้างแรงกดดันให้กับการค้าโลก เนื่องจากในอนาคตอาจมีแนวโน้มที่ประเทศอื่น อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย จะใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันกับ CBAM

ก๊าซเรือนกระจก

ประกอบกับ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่ผ่านมา ได้บรรลุข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Transition Away from Fossil Fuels) ซึ่งเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่ตอกย้ำความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานทดแทนใหม่

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีองค์ความรู้ในการจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ ถือเป็นโอกาสในการยกระดับการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้สามารถปรับตัวรองรับกับสถานการณ์โลกและสถานการณ์ของประเทศคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับการที่หลายประเทศเริ่มทยอยออกมาตรการทางการค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับแนวโน้มการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo