Business

เคาะตั้ง กรอ.สิ่งแวดล้อม รับมือมาตรการปรับคาร์บอน ก่อนเข้าพรมแดนอียู

กรมเจรจาฯ หารือภาครัฐ-เอกชน เคาะตั้ง กรอ.สิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อมรับมือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ของสหภาพยุโรป  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการรับมือการใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่า กรมได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ร่วมประชุมเพื่อแจ้งความคืบหน้าพัฒนาการล่าสุดของมาตรการ CBAM ของอียู

มาตรการปรับคาร์บอน

พร้อมกันนี้ ยังหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมของไทย ในการรับมือมาตรการดังกล่าว ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมเห็นว่า มาตรการ CBAM จะมีผลกระทบกับการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม

ดังนั้น จึงเห็นควรให้จัดตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม หรือ กรอ. สิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่ประสาน และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งเสนอให้รัฐเร่งจัดให้มีการช่วยเหลือด้านเงินทุน (green finance) แก่ผู้ประกอบการที่ปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

สำหรับความคืบหน้ามาตรการ CBAM สหภาพยุโรปได้เผยแพร่ระเบียบ CBAM (Regulation (EU) 2023/956) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566-31 ธันวาคม 2568

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรก ให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกไตรมาส หลังจากนั้นให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกปี และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 อียูจะเริ่มมาตรการบังคับกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องซื้อ ใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้นด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 อียูได้เผยแพร่ร่างกฎหมายลำดับรอง กำหนดหน้าที่การรายงานข้อมูล และรายละเอียดของข้อมูล ที่ต้องรายงานโดยผู้นำเข้า ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างกฎหมายลำดับรองนี้ จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 (ตามเวลาบรัสเซลส์)

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ที่ประชุมได้หารือแนวทางการเตรียมความพร้อมของไทย และการยื่นความเห็นของไทยต่อร่างกฎหมายลำดับ โดยในส่วนของกรม จะจัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองที่ได้จากการหารือครั้งนี้ ยื่นต่อคณะกรรมาธิการยุโรปผ่านทางเว็บไซต์ โดยเฉพาะเรื่องการแจ้งข้อมูล และการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิคที่มีความยุ่งยาก และจะเป็นภาระต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย รวมถึงการกำหนดหน่วยงานที่จะสอบทานและตรวจรับรอง (verify/certify) ข้อมูล

หากอียูสามารถรับรองให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ของไทย เป็นหน่วยงานสอบทานได้ จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

สำหรับการนำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม CBAM ได้กำหนดสิ่งที่ผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติ ได้แก่

1. จัดทำรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยื่นให้แก่หน่วยงานในประเทศสมาชิกอียู ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี โดยระบุปริมาณสินค้าที่นำเข้าในรอบหนึ่งปีก่อนหน้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า

shutterstock 2071356110

2. จะต้องส่งมอบใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยดังกล่าว ซึ่งราคาใบรับรองนั้น อ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู (EU Emissions Trading System : EU-ETS) และหากแสดงได้ว่าสินค้าถูกปรับคาร์บอนในประเทศต้นทางแล้ว เช่น ถูกเก็บภาษีคาร์บอน ผู้นำเข้าก็จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายภายใต้มาตรการ CBAM ได้

3. ผู้ประกอบการต่างชาติ สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ในระดับโรงงาน) ของสินค้าที่ตนผลิต โดยข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ จะต้องได้รับการรับรองโดยผู้รับรอง (accredited verifier) ที่แต่งตั้งโดยประเทศสมาชิกอียู

มาตรการ CBAM ของอียู เป็นผลจากการดำเนินนโยบายโลกสีเขียวไร้มลพิษของอียู (European Green Deal) ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 และตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมเป็น 0 ในปี 2593

ทั้งนี้ ส่งผลให้อียูออกชุดข้อเสนอกฎหมาย 13 ฉบับ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว (Fit for 55 package) และการออกมาตรการ CBAM ถือเป็นหนึ่งในชุดข้อเสนอกฎหมายดังกล่าว

มาตรการปรับคาร์บอน CBAM มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยไม่ให้ผู้ประกอบการของอียู มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับระบบการผลิตสินค้า เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ส่งสินค้าเข้าไปขายในอียูต้องมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo